xs
xsm
sm
md
lg

WTO บรรลุข้อตกลงเปิดเสรีไอที คาดไทยเนื้อหอมดึงดูดลงทุน เพิ่มโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯ-ยุโรป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาชิก WTO บรรลุข้อตกลงเปิดเสรีสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ หลังยืดเยื้อมากว่า 3 ปี คาดช่วยส่งเสริมขีดแข่งขันของไทย ดึงดูดการลงทุน และยังเพิ่มโอกาสส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรปได้เพิ่มขึ้น

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีการค้าขององค์การการค้าโลก ครั้งที่ 10 หรือ MC10 ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ระหว่างวันที่ 15-18 ธ.ค. 2558 ร่วมกับสมาชิก WTO อีก 163 ประเทศ โดยสมาชิกสามารถสรุปผลการเจรจาความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA Expansion) ซึ่งยืดเยื้อมากว่า 3 ปีได้สำเร็จ นับจากเริ่มเจรจาเมื่อปี 2555 โดยสาระสำคัญของความตกลงจะมีการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมพิเศษต่างๆ สำหรับการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ และรองรับพัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อันเป็นการต่อยอดความสำเร็จของความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA) ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2540

สำหรับความตกลง ITA Expansion จะส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทยในสินค้า IT เพราะไทยสามารถนำเข้าสินค้า IT ต้นน้ำและกลางน้ำมาเป็นวัตถุดิบการผลิตภาษีศูนย์ ซึ่งจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เนื่องจากต้นทุนที่ต่ำลง และยังเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการส่งสินค้า IT ไปประเทศที่ยังไม่มีการทำความตกลงการค้าเสรีกับไทย โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้ามอนิเตอร์ และสหรัฐฯ ยังเก็บภาษีร้อยละ 5 และกล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิตอล และกล้องถ่ายบันทึกวิดีโอ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปสหภาพยุโรปที่มีการเรียกเก็บภาษีร้อยละ 14 อีกด้วย

“ความตกลงฉบับนี้จะส่งผลให้บรรยากาศการค้าและการลงทุนของโลกในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีความตื่นตัว และจะทำให้ประเทศสมาชิกรวมทั้งไทยสามารถดึงดูดการลงทุนในด้านนี้มากขึ้น เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าไอทีของโลก การเข้าร่วมความตกลง ITA Expansion จะสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อนโยบายส่งเสริมการเป็นฐานผลิต และส่งออกสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับ IT รวมถึงนโยบาย Super Cluster และเศรษฐกิจดิจิตอลของไทย” นายวินิจฉัยกล่าว

ปัจจุบัน มีสมาชิกความตกลง ITA Expansion จำนวน 53 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (28 ประเทศ) ญี่ปุ่น แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ มอนเตเนโกร แอลเบเนีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ คอสตาริกา กัวเตมาลา โคลอมเบีย อิสราเอล ตุรกี มอริเชียส จีน จีนไทเป เกาหลีใต้ และฮ่องกง ส่วนประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมการเจรจา ITA Expansion ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

ขณะที่มูลค่าการค้าสินค้าทั่วโลกภายใต้ความตกลง ITA Expansion มากกว่า 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยสมาชิก WTO ที่ร่วมเป็นสมาชิกความตกลง ITA Expansion 25 ประเทศมีมูลค่าการค้ารวมกันประมาณร้อยละ 90 ของการค้าโลก ส่วนไทยมีมูลค่าการค้าสินค้า ITA Expansion ในตลาดโลกประมาณ 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.14 ล้านล้านบาท รายการสินค้าที่ไทยส่งออกสูงสุด ได้แก่ วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ ตัวประมวลผลและตัวควบคุม กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายภาพดิจิตอล กล้องถ่ายวิดีโอ และเครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชั่น โดยไทยมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสาขา IT สูงถึง 70,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ซึ่งสูงสุดของการลงทุนทั้งหมด และมีการจ้างงานประมาณ 65,000 คน

นายวินิจฉัยกล่าวว่า ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรี WTO ไทยได้พบปะกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปากีสถาน โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อผลักดันให้มูลค่าการค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็น 2,080 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561 ตามที่ผู้นำสองประเทศได้กำหนดไว้ และยังได้หารือถึงการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน ที่จะมีขึ้นในเดือนมกราคม 2559 ณ กรุงอิสลามาบัด และการจัดสัมมนาเฉพาะภาคเอกชนและการจับคู่นักธุรกิจด้วย

สำหรับผลการประชุม WTO ในครั้งนี้ Mr. Roberto Azevedo ผู้อำนวยการใหญ่ WTO ได้สรุปประเด็นที่คาดว่าจะเป็นผลสำเร็จในการประชุม MC10 อาทิ การยกเลิกการอุดหนุนส่งออกสินค้าเกษตร การให้สิทธิพิเศษสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด การสร้างความโปร่งใสด้านกฎระเบียบของ WTO เช่น การแจ้งข้อมูลการอุดหนุนประมง

ทั้งนี้ ไทยได้ผลักดันผลการประชุมให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์แก่ไทย โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การเปิดตลาดสินค้าเกษตรเพิ่มเติมโดยลดภาษีสินค้าเกษตรระหว่างกัน รวมทั้งผลักดันให้มีการยกเลิกการอุดหนุนส่งออก อันจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยในระยะยาวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น