xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.แจงสะพานเทียบเครื่องบินดอนเมืองชำรุด โต้ล็อกสเปกจัดซื้อ ยันทำตามระเบียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บิ๊ก ทอท.แจงเหตุสะพานเทียบเครื่องบินชำรุด เผยเพิ่งตรวจสอบและซ่อมบำรุงเมื่อ 21 พ.ย.ก่อนเกิดเหตุวันเดียว ยอมรับใช้งานมาตั้งแต่ปี 32 แต่ซ่อมบำรุงเชิงป้องกันมาตลอด กำชับเพิ่มความถี่ซ่อมบำรุง ชี้ปัจจุบันใช้งานหนักเหตุเที่ยวบินดอนเมืองเพิ่มขึ้นมาก โต้ใช้วิธีพิเศษล็อกสเปก จัดซื้ออุปกรณ์ ตรวจจับวัตถุแปลกปลอมหรือ FOD

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ชี้แจงถึงกรณีสะพานเทียบเครื่องบินหมายเลข 36 ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ขัดข้องและทรุดตัวระหว่างการให้บริการสายการบินนกแอร์ เที่ยวบิน DD 9319 เส้นทางอุบลราชธานี-ดอนเมือง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 เวลา 20.20 น. ว่า เมื่อเกิดเหตุ ทอท.ได้มีการประสานกับสายการบินทำการขนถ่ายผู้โดยสารจากเครื่อง และสายการบินได้ถอยออกจากหลุมจอดดังกล่าวเมื่อเวลา 21.30 น. โดยอากาศยานไม่ได้รับความเสียหายและไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์แต่อย่างใด

สำหรับสาเหตุที่สะพานเทียบเครื่องบินหมายเลข 36 ชำรุด จากการตรวจสอบเกิดขึ้นเนื่องจากโซ่ข้างในเสาปรับระดับสูง-ต่ำ ขาด เป็นเหตุให้สะพานเทียบเครื่องบินทรุดตัวลงมาไม่สามารถใช้งานได้ โดยสะพานเทียบเครื่องบินดังกล่าวได้ติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2532 อย่างไรก็ตาม ท่าอากาศยานดอนเมืองได้มีการตรวจสอบสะพานเทียบเครื่องบินตามระยะเวลามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการซ่อมบำรุงรักษาแบบเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance : PM) มาโดยตลอด

โดยล่าสุดได้มีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์สะพานเทียบเครื่องบิน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 แต่เนื่องจากมีปริมาณเที่ยวบินที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้งานสะพานเทียบเครื่องบินมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ทอท.จะได้แจ้งให้เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบสะพานเทียบเครื่องบิน รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้บริการผู้โดยสารและสายการบินให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวต่อไป

สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดซื้อ-จัดจ้างของ ทอท.นั้น นายนิตินัย กล่าวว่า เนื่องจาก ทอท.เป็นหน่วยงานของรัฐ การดำเนินการต่างๆ ได้ถือปฏิบัติตามกฎระเบียบ นอกจากนั้น คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ได้กำชับให้ฝ่ายบริหาร ทอท.ดำเนินการด้วยความโปร่งใส หลีกเลี่ยงการใช้วิธีพิเศษ เว้นแต่เป็นกรณีที่มีเหตุผลจำเป็นพิเศษ หรือเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ของ ทอท. และในกรณีมีการจัดจ้างเอกชนปฏิบัติการและซ่อมบำรุงรักษา ระบบ ทอท.ต้องมีแผนงานในการจัดหาผู้รับจ้างล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ปี ก่อนอายุสัญญาจะครบกำหนด รวมทั้งในงานซื้อพร้อมติดตั้งระบบจะต้องกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องส่งมอบลิขสิทธิ์การใช้งาน การซ่อมบำรุงและการพัฒนา เพื่อป้องกันการผูกขาดในอนาคตอีกด้วย

ส่วนกรณีที่ระบุว่า ทอท.ให้บางบริษัทเข้าดำเนินการติดตั้งงานอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุแปลกปลอมในเขตการบิน (Foreign Object Damage : FOD) โดยวิธีพิเศษนั้น ขอยืนยันว่า ทอท.ยังไม่มีการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำข้อกำหนดรายละเอียดการจัดจ้างและจะดำเนินการเปิดประมูลตามนโยบายของคณะกรรมการ ทอท.ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น