xs
xsm
sm
md
lg

กรมทางหลวงเดินสายโชว์แผน 20 ปีพัฒนามอเตอร์เวย์ทั่ว ปท. 21 สายทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมทางหลวงเปิดแผนแม่บทพัฒนามอเตอร์เวย์ 20 ปี (2560-2579) เดินสายรับฟังความเห็นประชาชน 4 ภาค เผยโครงข่าย 21 สายทาง ระยะทางรวม 6,612 กม. ภาคเหนือ 3 สายทาง ภาคอีสาน 4 สายทาง ภาคกลาง-ภาคตะวันตกและภาคตะวันออกรวม 15 สายทาง และภาคใต้ 3 สายทาง

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า ในเดือน พ.ย.นี้กรมทางหลวงได้มีการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของประเทศไทย ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการศึกษาจัดทำแผนกลยุทธ์ การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการ ความสำคัญของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแต่ละเส้นทาง และการกำหนดโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยมีการนำเสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่าย มอเตอร์เวย์ ปี 2558 มีระยะเวลาดำเนินงาน 20 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2560-2579 รวมทั้งสิ้น 21 สายทาง ระยะทางรวมทั้งสิ้น 6,612 กิโลเมตร แบ่งเป็นภาคเหนือ 3 สายทาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 สายทางภาคกลาง-ภาคตะวันตกและภาคตะวันออกรวม 15 สายทาง และภาคใต้ 3 สายทาง

สำหรับโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 สายทาง ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M6 สายบางปะอิน-หนองคาย ระยะทางประมาณ 540 กิโลเมตร, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M3 สายสุรินทร์-บึงกาฬ ระยะทางประมาณ 465 กิโลเมตร, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M2 สายตาก-มุกดาหาร ระยะทางประมาณ 704 กิโลเมตร และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M4 สายนครสวรรค์-อุบลราชธานี ระยะทางประมาณ 610 กิโลเมตร

โดยภูมิประเทศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะใกล้เคียงกับสี่เหลี่ยมจัตุรัส ดังนั้นจึงกำหนดให้โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเป็นรูปแบบตารางเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญของภูมิภาคและสามารถเชื่อมโยงแหล่งเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผ่านทางด่านชายแดนซึ่งถูกกำหนดให้เป็นต้นทางหรือปลายทางของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ซึ่งโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองจะสามารถแบ่งเบาปริมาณการจราจรบนทางหลวงสายหลักของภูมิภาค และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในภูมิภาค ที่สำคัญจะเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมขนส่งและเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มากยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามแผนแม่บทปี 2558 แล้ว ปัจจุบันกรมทางหลวงยังได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะเร่งด่วนตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ในรัศมี 250 กิโลเมตรรอบกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 55,620 ล้านบาท ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 20,200 ล้านบาท โดยทั้ง 3 สายทางจะเริ่มดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2559-2562 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)

สำหรับการสัมมนาจะจัดขึ้น 4 ภาค ใน 4 จังหวัด โดยก่อนหน้านี้ได้จัดไป 1 ครั้งที่ ภาคเหนือ ที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และจะจัดอีก 2 ภาค ใน 2 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 และปิดท้ายที่ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร วันที่ 23 พฤศจิกายน 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น