xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด BOI เคาะ 15 โครงการ 3.7 หมื่นล้าน เพิ่ม 10 กิจการเป้าหมายในเขต ศก.พิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บอร์ดบีโอไอ” อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 15 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 37,000 ล้านบาท พร้อมไฟเขียวเพิ่มกิจการเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก 10 กิจการ


นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในกลุ่มต่างๆ จำนวน 15 โครงการ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 37,516.6 ล้านบาท

“กิจการบริการ และสาธารณูปโภคมีมูลค่าการลงทุนสูงสุดโดยมีการยื่นขอ 2 ราย ได้แก่ บริษัท ไทยไลอ้อน เมนทารี จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางอากาศ เงินลงทุนทั้งสิ้น 13,440.8 ล้านบาท โครงการนี้เป็นการเพิ่มจำนวนเครื่องบินเพื่อเสริมเส้นทางบินในประเทศ เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบริษัท สยามเคเบิล โฮลดิ้ง จำกัด ได้รับการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,500 ล้านบาท ตั้งกิจการที่จังหวัดสงขลา” นางหิรัญญากล่าว

สำหรับกิจการในกลุ่มกิจการด้านการเกษตร ได้แก่ โครงการที่ 1-5 บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กิจการผลิตไข่ไก่และไก่รุ่น ลงทุนรวม 6,439 ล้านบาท 6. บริษัท ที คิว อินดัสทรีสตาร์ช จำกัด ผลิตแป้งมันสำปะหลัง 1,000 ล้านบาท 7. บริษัท ไวส์วูดส์ จำกัด 1,100 ล้านบาท 8. บริษัท เมโทร อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด ผลิตแผ่นชิ้นไม้อัดปาร์ติเกิลบอร์ด 2,400 ล้านบาท 9. บริษัท ไท่ผิง เอทานอล จำกัด ลงทุน 1,600 ล้านบาท

กิจการในกลุ่มแร่ เซรามิกส์ ได้แก่ 1. บริษัท เซรามิค อุตสาหกรรมไทย จำกัด ลงทุน 1,573 ล้านบาท 2. บ.เอเชีย แปซิฟิก กลาส ขยายกิจการผลิตขวดแก้ว 1,464 ล้านบาท 3. บมจ.ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ ขยายกิจการผลิตท่อเหล็กไร้สนิม 875.3 ล้านบาท กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเบา ได้แก่ 1. บริษัท ไทย ยูนิจิกะ สปันบอนด์ จำกัด ผลิต SPUNBOND NON-WOVEN FABRIC ลงทุน 1,124.5 ล้านบาท

นอกจากบอร์ดยังอนุมัติปรับปรุงเงื่อนไขการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ทั่วไป โดยโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ที่เริ่มมีการผลิตหรือให้บริการภายในปี 2560 จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 1-4 ปี ซึ่งวิธีการให้สิทธิประโยชน์จะขึ้นอยู่กับมูลค่าเงินลงทุนจรในแต่ละช่วงเวลาที่กำหนด

พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เพิ่มกิจการเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 10 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1. กิจการอบพืชและไซโล 2. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร 3. กิจการผลิตโครงสร้างโลหะสำหรับงานก่อสร้างหรืองานอุตสาหกรรม 4. กิจการผลิตสิ่งพิมพ์ทั่วไป 5. กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ 6. กิจการผลิตวัสดุก่อสร้าง และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงสำหรับงานสาธารณูปโภค (ยกเว้นกระเบื้องมุงหลังคาเซรามิกส์และกระเบื้องปูพื้นหรือผนัง) 7. กิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกาย เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน (ยกเว้นเครื่องสำอาง) 8. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภค 9. กิจการผลิตสิ่งของจากเยื่อหรือกระดาษ 10. กิจการพัฒนาอาคารสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและ/หรือคลังสินค้า

ทั้งนี้ กิจการ 1-4 เป็นกลุ่มกิจการที่เปิดให้การส่งเสริมอยู่แล้วในปัจจุบัน จึงให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีและลดหย่อนร้อยละ 50 ในปีที่ 9-13 ส่วนกิจการที่ 5-10 เป็นกลุ่มกิจการที่ถูกยกเลิกให้การส่งเสริม ไปแล้ว จึงได้กำหนดเงื่อนไขให้ยื่นขอรับการส่งเสริมภายในเดือนมิถุนายน 2559 และให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้
นิติบุคคล 8 ปี

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1-2 ครอบคลุม 90 ตำบล 23 อำเภอ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 จ.ตาก จ.มุกดาหาร จ.สระแก้ว จ.ตราด จ.สงขลา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 จ.เชียงราย จ.หนองคาย จ.นครพนม จ.กาญจนบุรี จ.นราธิวาส
กำลังโหลดความคิดเห็น