xs
xsm
sm
md
lg

“บีโอไอ” เผยผู้ผลิตชั้นนำเล็งตั้งฐานพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บีโอไอเผยการลงทุนกลุ่มกิจการซอฟต์แวร์ 7 เดือนแนวโน้มสดใส หลังอนุมัติลงทุนแล้วกว่า 100 โครงการ พร้อมเตรียมไฟเขียวกิจการซอฟต์แวร์พัฒนาระบบบัตรเติมประเภทบัตรร่วมที่ใช้ได้กับการเดินทางทุกประเภท และซอฟต์แวร์ระบบประมวลผลการเงินแบบครบวงจรจากผู้ลงทุนรายใหญ่ของโลก

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาลได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกิจการด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงเดือนกรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วถึง 107 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 668 ล้านบาท แนวโน้มการขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการซอฟต์แวร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุดมีกิจการที่น่าสนใจได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้วและบีโอไออยู่ระหว่างการพิจารณาหลายโครงการ เช่น กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับระบบเก็บเงินออนไลน์ (Billing system) ของรถไฟฟ้า เพื่อให้มีลักษณะเป็นบัตรร่วมสามารถใช้กับระบบคมนาคมอื่นๆ ได้หลากหลาย รวมถึงโครงการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศที่ขอขยายโครงการเพื่อพัฒนาระบบซอฟต์แวร์สำหรับโปรแกรมวิเคราะห์และประมวลผลทางการเงินแบบครบวงจร ซึ่งคาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะทำให้ไทยเป็นฐานของการประมวลผลระบบการเงินของบริษัทในเครือจากทั่วโลก และจะก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้นอีกมากหลังจากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้จ้างทีมพัฒนาซอฟต์แวร์คนไทยไปแล้วมากกว่า 700 คน

“กิจการที่ได้รับอนุมัติส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่มุ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน และตอบสนองการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น การพัฒนาระบบเกมบนโทรศัพท์มือถือ ซอฟต์แวร์รองรับระบบโทรคมนาคม 4G การพัฒนาระบบบอกพิกัดช่วยติดตามตัวบุคคลสำหรับธุรกิจประเภทต่างๆ เช่น การประกันภัย การเงินการธนาคาร ซอฟต์แวร์สำหรับระบบบอกพิกัดของสถานที่สำคัญๆ ในประเทศไทย และซอฟต์แวร์ที่ใช้พัฒนาระบบข้อมูลหรือระบบประมวลผลขนาดใหญ่ (Big data) ขององค์กร

นอกจากนี้ยังมีกิจการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับเปรียบเทียบราคาสินค้า การจัดทำระบบซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซอฟต์แวร์สำหรับสื่อโฆษณามัลติมีเดียแนวใหม่ รวมถึงซอฟต์แวร์เพื่อยกระดับการศึกษาด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน และการผลิตการ์ตูนแอนิเมชัน เป็นต้น” นางหิรัญญากล่าว

ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนในกิจการซอฟต์แวร์อยู่ในกลุ่มกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลาตั้งแต่ 5-8 ปี โดยไม่กำหนดวงเงินภาษีที่ยกเว้น ซึ่งจากความสนใจลงทุนในกิจการซอฟต์แวร์ในปัจจุบันแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน และตอกย้ำถึงการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สำคัญของภูมิภาคอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น