สภาองค์การนายจ้างฯ จับมือ 16 องค์กรเอกชนจัดทำยุทธศาสตร์ด้านแรงงานชาติภายใต้การเปลี่ยนแปลงใน 5 ปีข้างหน้า (2559-2563) จี้ปฏิรูปค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำใหม่กำหนดอัตรา 300 บาทต่อวันเป็นอัตราแรกเข้า คำนึงถึงเงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน ความสามารถ จี้ปรับปรุงระบบประกันสังคม ทำแผนรับมือแรงงานไทยเข้าสู่วัยสูงอายุซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนแรงงานหนักขึ้น
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า สภาองค์การนายจ้างฯ เตรียมที่จะเสนอกระทรวงแรงงานกำหนดยุทธศาสตร์ด้านแรงงานชาติภายใต้การเปลี่ยนแปลงใน 5 ปีข้างหน้า(2559-2563) ที่สภาองค์การนายจ้างฯ ได้ระดมความเห็นร่วมกับ 16 องค์กรภาคเอกชน เช่น สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ฯลฯ โดยมีสำนักงานประกันสังคม และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งมีทั้งหมด 9 ประเด็น ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐได้กำหนดนโยบายในการเตรียมพร้อมรองรับในระยะยาว
สำหรับแผนดังกล่าวประกอบด้วย 1. การปฏิรูปค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปัจจุบันที่อยู่ 300 บาทต่อวันนั้นควรจะยกเลิกโครงสร้างการดำเนินการแบบเดิมที่ต้องขึ้นทุกปีโดยไม่ได้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน แต่ควรจะปรับใหม่กำหนดให้ 300 บาทต่อวันเป็นค่าจ้างแรกเข้าและมีการพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจที่อิงเงินเฟ้อ คำนึงถึงทักษะฝีมือแรงงาน และประสบการณ์ของแรงงาน รวมถึงภาวะตลาดแรงงานในขณะนั้นเป็นสำคัญโดยไม่ต้องปรับทุกปี และไม่ควรเท่ากันทั้งประเทศ
“ขณะนี้มีกระแสการขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทต่อวันเป็น 360 บาทต่อวัน ซึ่งเอกชนมองว่าเป็นการคิดที่ไม่อยู่บนพื้นฐานอิงข้อเท็จจริงโดยขึ้นถึง 20% ของอัตราปัจจุบัน ซึ่งหากพิจารณาภาวะเศรษฐกิจขณะนี้และในปี 2559 ก็ยังมองว่ายังไม่ดีนักตามทิศทางตลาดโลก นักลงทุนเองก็ยังคงชะลอดูเศรษฐกิจโลกก่อนที่จะขยายลงทุนเพิ่ม ดังนั้นหากต้องขึ้นเป็น 360 บาทต่อวันจะซ้ำเติมเศรษฐกิจปีหน้าแน่นอน การขึ้นคงอยู่ 3-5% น่าจะพอรับไหว” นายธนิตกล่าว
2. ค่าจ้างขั้นต่ำและสวัสดิการแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษควรจะมีบทบัญญัติที่ต่างไปจากกฎหมายแรงงานปกติ และแยกกฎหมายแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างหากทั้งด้านค่าจ้างและสวัสดิการ 3. นโยบายแรงงานต่างชาติต้องชัดเจนและรองรับการขาดแคลนในอนาคต โดยต้องขึ้นทะเบียนอย่างโปร่งใส ควรให้ขั้นตอนการตรวจสัญชาติอยู่ในไทยฝ่ายเดียว 4. การป้องกันและแก้ปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งควรกำหนดการขึ้นทะเบียนเพื่อการตรวจสอบ
5. การทบทวนการคุ้มครองแรงงานให้มีความเป็นสากล ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียน มีการสอบคุณวุฒิวิชาชีพทุกสาขา 6. การพัฒนาแรงงานในอนาคตต้องเน้นการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน หากจะคงขีดความสามารถทางการแข่งขันโดยปรับเปลี่ยนกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้เป็นวิทยาลัยและหรือสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 7. ปรับเปลี่ยนบทบาทกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ด้วยการทำงานเชิงรุกส่งเสริมมากกว่ากำกับตรวจสอบ
8. ปฏิรูปประกันสังคม การแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนและนายจ้างมีส่วนร่วมในการตรวจสอบองค์กรและความโปร่งใส เพิ่มสิทธิประโยชน์ ทั้งด้านคุณภาพของสถานพยาบาล คุณภาพยาและมาตรฐานการรักษาของแพทย์ นอกจากนี้ ควรขยายเวลาการชราภาพของแรงงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ฯลฯ
9. การวางแผนรองรับแรงงานสูงอายุ ซึ่งพบว่าในปี พ.ศ. 2568 หรืออีก 10 ปีข้างหน้าสัดส่วนแรงงานสูงอายุจะคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ จะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานมากยิ่งขึ้น จะต้องมีการจัดทำยุทธศาสตร์แรงงานสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้งต้องปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีบทกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับผลตอบแทนแรงงานที่เกษียณอายุที่ควรอยู่ที่ 60 ปี เป็นต้น