xs
xsm
sm
md
lg

SCC หนุนคลัสเตอร์ปิโตรเคมี ขับเคลื่อน ศก.พ้นกับดักรายได้ปานกลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ปูนซิเมนต์ไทย” สนับสนุนคลัสเตอร์ปิโตรเคมี เชื่อจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากกับดักผู้มีรายได้ปานกลาง ชี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยแข็งแกร่งที่สุดในอาเซียน มั่นใจว่านโยบายนี้จะพลิกโฉมหน้าปิโตรฯ ไทย ด้านบีแอลซีพีเสนอรัฐผุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 พันเมกะวัตต์ที่มาบตาพุด

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เปิดเผยว่า ส่วนตัวสนับสนุนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ปิโตรเคมีของภาครัฐ ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (MIT) ซึ่งถือว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว

เนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยแข็งแกร่งที่สุดในอาเซียน สร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก และยังเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ซึ่งปัจจุบันโรงงานปิโตรเคมี 35 โรงที่นิคมฯ มาบตาพุด จ.ระยอง ได้รับการรับรองการเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือโรงงานสีเขียว และเป็นแบบอย่างให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศในอาเซียน

เชื่อว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ของคลัสเตอร์ปิโตรเคมีออกมา โดยสนับสนุนให้เกิดโรงงานปิโตรเคมีที่ผลิตสินค้าที่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นไปอีก (HHVA) ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย และเชื่อว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยมีความพร้อมมากที่สุด โดยมีระบบท่อเชื่อมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ในส่วนของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเองก็มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้น ขณะนี้มองว่าจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงและมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีในแง่ของต้นทุนที่ลดลงต่อเนื่องไปอีก 3 ปี หรือจนถึงปี 2561 ดังนั้นจึงถือว่าประเทศไทยมีความพร้อมมากที่สุดในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
กำลังโหลดความคิดเห็น