บีโอไอนำ เสนอผลศึกษาเชิงลึกแนะนำผู้ประกอบการไทยมองโอกาสลงทุนในกลุ่มตลาดใหม่ 4 ประเทศ ทั้ง ไนจีเรีย-คีร์กิซสถาน บังกลาเทศ และปากีสถาน ชี้สถานการณ์เศรษฐกิจกำลังเติบโต ขณะที่มีกำลังซื้อจากจำนวนประชากรรวมกันมากกว่า 500 ล้านคน
น.ส.ชลลดา อารีรัชชกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายในงานการเสนอผลการศึกษา “โอกาสการลงทุนไทยในประเทศตลาดใหม่ : ไนจีเรีย คีร์กิซสถาน บังกลาเทศ และปากีสถาน” ว่า บีโอไอให้ความสำคัญต่อการศึกษาศักยภาพ และโอกาสของการลงทุนในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
โดยในกลุ่มของตลาดใหม่ เช่น กลุ่มประเทศแอฟริกา เอเชียกลาง เอเชียใต้ และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มีความพร้อมทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ และแรงงาน รวมถึงเป็นกลุ่มตลาดที่กำลังขยายตัว มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยในปี 2557-2558 พบว่า คีร์กีซสถาน มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 4.1% ขณะที่อีก 3 ประเทศมีขนาดตลาดภายในประเทศขยายตัวสูงจากจำนวนประชากรที่มีรวมกันมากกว่า 500 ล้านคน ได้แก่ ประเทศบังกลาเทศ มีประชากร 168 ล้านคน ไนจีเรีย จำนวน 181 ล้านคน และปากีสถาน มีจำนวนมากกว่า 199 ล้านคน
สำหรับผลการศึกษาของทั้ง 4 ประเทศนั้น คีร์กีซสถาน เป็นประเทศในเอเชียกลางที่มีความน่าสนใจ เพราะมีความใกล้ชิดกับรัสเซีย มีข้อตกลงทางการค้ากับกลุ่มประเทศที่แยกออกมาจากสหภาพโซเวียต (Commonwealth of Independent States : CIS) อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงการท่องเที่ยวและการโรงแรม ทั้งนี้ อุปสรรคในการลงทุนที่สำคัญมาจากข้อจำกัดในด้านภาษา เนื่องจากชาวคีร์กีซใช้ภาษาคีร์กีซ และรัสเซียเป็นหลัก รวมถึงปัจจุบันมีการลงทุนในคีร์กีซแล้วจำนวนมากจากหลากหลายประเทศ เช่น รัสเซีย คาซัคสถาน และจีน
ขณะที่ ไนจีเรีย มีศักยภาพในด้านของการเป็นประเทศผู้นำในแอฟริกาตะวันตก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา รายได้หลักจากน้ำมัน ปิโตรเลียม มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป รวมถึงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในประเทศยังจำกัดอยู่ในเขตเมืองเป็นหลัก
ปากีสถาน เป็นประเทศที่มีจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ระหว่างตะวันออกกลาง และเอเชีย มีขนาดเศรษฐกิจ และการพัฒนาในเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซอฟต์แวร์ ด้านอุตสาหกรรมที่มีความน่าสนใจสำหรับนักธุรกิจไทย เช่น อุตสาหกรรมเพาะปลูก อุตสาหกรรมการแปรรูปพืชผลทางการเกษตร อุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ทั้งนี้ ยังมีจุดอ่อนโดยเฉพาะด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
สำหรับ บังกลาเทศ เป็นประเทศที่มีการผลิตสินค้าเครื่องนุ่งห่มอันดับ 2 ของโลก มีความโดดเด่นเรื่องแรงงานจำนวนมาก มีความน่าสนใจสำหรับนักธุรกิจไทยในด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน อุตสาหกรรมการแปรรูปพืชผลทางการเกษตร การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดในด้านสาธารณูปโภค ไฟฟ้า และการคมนาคมขนส่ง