xs
xsm
sm
md
lg

PwC เผย 4 เทรนด์พลิกโฉมซีเอฟโออาเซียน แนะฝ่ายการเงินปรับบทบาทรับเปิดเออีซี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย)
“PwC” เผย 4 เทรนด์พลิกโฉมการทำงานและบทบาทของซีเอฟโออาเซียนในอีก 15 ปีข้างหน้า ปรับบทบาทให้เป็นพาร์ตเนอร์ของธุรกิจ-สงครามแย่งชิงคนเก่ง-ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการบริหารความสามารถในการทำกำไร ชี้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เข้ากับฝ่ายการเงิน และการบริหารบุคลากรมากความสามารถให้อยู่กับองค์กร ท่ามกลางการเปิดเสรีการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน หลัง 10 ประเทศอาเซียนก้าวเข้าสู่เออีซีปลายปีนี้ เป็นเรื่องด่วนที่ซีเอฟโอต้องเร่งมือปรับโครงสร้างฝ่ายการเงิน และยกระดับความสามารถของพนักงาน เพื่อรับมือธุรกิจการเงินที่จะทวีความซับซ้อนและแข่งขันรุนแรงมากขึ้น

น.ส.วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงรายงาน Finance Futurescape 2030 ซึ่ง PwC จัดทำร่วมกับ CPA Australia โดยทำการสำรวจทั้งแบบการวิจัยเชิงปริมาณ และการสัมภาษณ์กลุ่มเฉพาะกับบรรดาซีเอฟโอบริษัทชั้นนำของสิงคโปร์กว่า 70 ราย ครอบคลุมกว่า 10 อุตสาหกรรมว่า 4 แนวโน้มที่เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การปรับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer : CFO) และแผนกการเงินของบริษัทต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนในปี 2573 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย 1. ขอบเขตบทบาทและหน้าที่ของซีเอฟโอจะกลายเป็นพาร์ตเนอร์ของธุรกิจมากขึ้น 2. สงครามแย่งชิงคนเก่งรุนแรงขึ้น (Talent war) 3. อิทธิพลของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงบทบาทของฝ่ายการเงิน และ 4. ความสามารถในการบริหารผลกำไร

“แม้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้จะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจและช่องทางการลงทุนใหม่ๆ แต่นั่นก็มาพร้อมความท้าทายในด้านต่างๆ มากมายเช่นกัน ทั้งผู้บริหารระดับสูงฝ่ายการเงินและทีมงานต้องเตรียมตัวรับมือเพื่อก้าวไปข้างหน้า เรามองว่าซีเอฟโอและเจ้าของธุรกิจเองต้องเริ่มมองหาแนวทางในการปรับโครงสร้างฝ่ายการเงินของตน รวมทั้งพัฒนาทักษะและยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรภายในแผนกตั้งแต่วันนี้” น.ส.วิไลพรกล่าว

ทั้งนี้ ภายใต้การรวมกลุ่มของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) จะส่งผลให้ภูมิภาคนี้เป็นตลาดที่มีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของภูมิภาคอาเซียน (GDP) รวมกันมูลค่ากว่า 83 ล้านล้านบาท และมีจำนวนผู้บริโภคในภูมิภาคสูงกว่า 600 ล้านคน

ผลสำรวจพบว่า ซีเอฟโอถึง 70% เชื่อว่าการทำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนหลังเปิดเออีซี จะทวีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆในอีก 15 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ซีเอฟโอกลายเป็นพาร์ตเนอร์ของธุรกิจมากขึ้นและเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังในการกำหนดทิศทางขององค์กร เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจ และทำงานอย่างสอดคล้องกับทุกแผนก นอกจากนี้ ซีเอฟโอมากกว่าครึ่ง (54%) ยังระบุว่าพวกเขาต้องมีรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (Deputy CFO) เข้ามาช่วยในการทำงานในระยะข้างหน้า เป็นตัวเลขที่สูงกว่าผลสำรวจในปีที่ผ่านมาเพียง 19%

นอกจากนี้ การหาแนวทางในการบริหารประสิทธิภาพในการทำกำไรในระยะยาวให้กับบริษัท ถือเป็นความท้าทายของฝ่ายการเงิน เนื่องจากในปี 2573 องค์กรต่างๆ จะยิ่งขยายกิจการ ออกไปจัดตั้งสาขาหรือบริษัทย่อยในประเทศต่างๆ มากขึ้นตามการขยายตัวขององค์กรและการแข่งขันในภูมิภาคนั้นๆ เป็นต้น

“ถ้าดูในเชิงลึก เรามองว่า 2 แนวโน้มที่เป็นความท้าทายเร่งด่วนของซีเอฟโอในภูมิภาคนี้ที่ต้องเร่งหาทางรับมือ คือ สงครามแย่งชิงคนเก่งที่จะเพิ่มมากขึ้น และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี” น.ส. วิไลพรกล่าว

‘สงครามแย่งชิงคนเก่ง’ ความท้าทายที่มาพร้อมเออีซี

หลังจากเปิดเออีซีในปลายปีนี้ ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศจะมีขนาดตลาดและฐานการผลิตรวมกันที่ใหญ่ขึ้น มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมือได้อย่างเสรีมากขึ้น นำไปสู่โอกาสในการขยายตลาดและฐานลูกค้าใหม่ ภายใต้กำแพงหรือข้อจำกัดทางการค้าระหว่างประเทศที่ลดลง อย่างไรก็ดี การเปิดเออีซีอาจส่งผลให้สงครามการแย่งชิงบุคลากรที่มีความสามารถสูงหรือทาเลนต์ทวีความรุนแรงขึ้น โดยผลการสำรวจพบว่า ซีเอฟโออาเซียนถึง 57% ที่เชื่อว่าจะมีการแย่งชิงคนเก่งกันในทุกๆ มิติและในทุกตำแหน่งขององค์กรไปจนถึงช่วงปี 2573 ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทต่างๆ สามารถเข้าถึงกลุ่มทาเลนต์ (Talent Pools) ได้อย่างเสรีมากขึ้น

“หากธุรกิจต้องการจะประสบความสำเร็จและอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันภายในภูมิภาคที่จะยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วง 15 ปีข้างหน้า ผู้บริหารจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่ดึงดูด และรักษาคนเก่งไว้กับองค์กรให้ได้ในระยะยาว” น.ส.วิไลพรกล่าว

ผลสำรวจกลับพบว่า ซีเอฟโอที่ทำการสำรวจมากถึง 78% ระบุว่า องค์กรของพวกเขายังไม่มีการวางแผนด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลฝ่ายการเงินอย่างเหมาะสม เทรนด์อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น คือ บริษัทขนาดใหญ่จะยังคงความได้เปรียบในการสรรหาทาเลนต์ในตลาดแรงงานได้มากกว่าองค์กรที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่การจ้างงานหรือแต่งตั้งคนในตำแหน่งซีเอฟโอในอนาคต จะต้องมีคุณสมบัติอันพึงประสงค์ รวมทั้งความรู้ความชำนาญที่เพียบพร้อม ไม่จำกัดเฉพาะทางด้านการเงินอย่างเดียวอีกต่อไป

น.ส.วิไลพรขยายความต่อว่า ธุรกิจในอนาคตจะต้องการซีเอฟโอที่เป็นมากกว่าซีเอฟโอทั่วไป คือ มีความสามารถรอบด้าน มีความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ในการบริหารงานจากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เพื่อช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโต รวมทั้งมีความสามารถในการบริหารจัดการรายจ่ายไปพร้อมๆ กับการเพิ่มผลผลิตและผลกำไรให้กับธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีทักษะในการบริหารคนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Soft skills) เช่น ทักษะการสื่อสารและแก้ปัญหาความขัดแย้ง การจูงใจ การเจรจาต่อรอง การคิดเชิงกลยุทธ์ และการสร้างทีมงาน เป็นต้น

แม้ในภาพรวมเออีซีจะช่วยให้ซีเอฟโอมีตัวเลือกมากขึ้นในการจ้างคน เพราะตลาดแรงงานใหญ่ขึ้น แต่ผลสำรวจยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวโน้มการบริหารบุคลากรในอีก 15 ปีข้างหน้าอีกด้านหนึ่ง โดยพบว่าขนาดของฝ่ายการเงินมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริษัทมีแนวคิดในการนำเครื่องจักรกลหรือเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น รวมถึงการนำรูปแบบการจ้างบริการร่วมกัน (Shared service) หรือจ้างพนักงานแบบชั่วคราวจากภายนอก (Outsourcing) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านบุคลากร และบริหารบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เทคโนโลยีพลิกโฉมบทบาทฝ่ายการเงิน

น.ส.วิไลพรกล่าวต่อว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็น 1 ใน 5 เมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการเงิน จากผลการสำรวจในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าจากนี้ไปจนถึงปี 2573 รูปแบบการทำงานของฝ่ายการเงินจะเปลี่ยนแปลงไป โดยซีเอฟโอถึง 57% ระบุว่า ในขณะนี้ได้นำเทคโนโลยีจากหลากหลายแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยในการทำงานของฝ่ายการเงิน เพื่อเก็บข้อมูลและจัดทำรายงานงบการเงิน และในอนาคตคาดว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ จะยิ่งส่งผลให้มีทางเลือกที่หลากหลายของแพลตฟอร์ม ที่แผนกการเงินสามารถนำมาใช้เพิ่มศักยภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น

“ในระยะต่อไป ซีเอฟโอจะต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี รู้จักที่จะนำเทคโนโลยีมาต่อยอดและเลือกที่จะลงทุน หรือนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้กับฝ่ายการเงินหรือธุรกิจโดยรวมอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร”

จากประเด็นดังกล่าวยังส่งผลให้ความท้าทายของซีเอฟโอและฝ่ายการเงินในช่วงเวลาอีก 15 ปีข้างหน้า หนีไม่พ้นเรื่องของการวางยุทธศาสตร์องค์กรที่สามารถผสมผสานเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทั้งที่นำมาใช้ในการปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบันและอนาคตให้เป็นหนึ่งและมั่นใจได้ว่า ข้อมูลที่ได้รับมีความสัมพันธ์สอดคล้อง (Relevant) ถูกต้อง (Accurate) ตรงเวลา (Timely) และสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลจากที่ไหนก็ได้เมื่อต้องการ (Mobile)

น.ส.วิไลพรกล่าวทิ้งท้ายว่า “วันนี้เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงบทบาทและหน้าที่ของฝ่ายการเงิน รวมถึงแผนกอื่นๆ ในองค์กรด้วย ดังนั้น ซีเอฟโออาเซียนจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเอง เร่งศึกษา-ทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมและความท้าทายของธุรกิจให้ถ่องแท้ รวมถึงก้าวให้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เข้าใจว่าควรนำเทคโนโลยีใดมาปรับใช้กับธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานทั้งกับฝ่ายการเงินและองค์กรโดยรวม”

อนึ่ง PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก มีเครือข่ายไปใน 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 195,000 คน สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 56 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีพนักงานกว่า 1,600 คนในประเทศไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น