PwC เผย 4 เทรนด์ ได้แก่ การปรับบทบาทให้เป็นพาร์ตเนอร์ของธุรกิจ สงครามแย่งชิงคนเก่ง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการบริหารความสามารถในการทำกำไร จะพลิกโฉมการทำงาน และบทบาทของซีเอฟโออาเซียนในอีก 15 ปีข้างหน้า ชี้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เข้ากับฝ่ายการเงิน และการบริหารบุคลากรมากความสามารถให้อยู่กับองค์กร ท่ามกลางการเปิดเสรีการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน หลัง 10 ประเทศอาเซียนก้าวเข้าสู่เออีซีปลายปีนี้ เป็นเรื่องด่วนที่ซีเอฟโอต้องเร่งมือปรับโครงสร้างฝ่ายการเงิน และยกระดับความสามารถของพนักงาน เพื่อรับมือธุรกิจการเงินที่จะทวีความซับซ้อน และแข่งขันรุนแรงมากขึ้น
น.ส.วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาบริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงรายงาน Finance Futurescape 2030 ซึ่ง PwC จัดทำร่วมกับ CPA Australia โดยทำการสำรวจทั้งแบบการวิจัยเชิงปริมาณ และการสัมภาษณ์กลุ่มเฉพาะกับบรรดาซีเอฟโอบริษัทชั้นนำของสิงคโปร์กว่า 70 ราย ครอบคลุมกว่า 10 อุตสาหกรรม ว่า 4 แนวโน้มที่เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การปรับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer : CFO) และแผนกการเงินของบริษัทต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนในปี 2573 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย 1.ขอบเขตบทบาทและหน้าที่ของซีเอฟโอจะกลายเป็นพาร์ตเนอร์ของธุรกิจมากขึ้น 2.สงครามแย่งชิงคนเก่งรุนแรงขึ้น (Talent war) 3.อิทธิพลของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงบทบาทของฝ่ายการเงิน และ 4.ความสามารถในการบริหารผลกำไร
“สงคราม” “หากธุรกิจต้องการจะประสบความสำเร็จและอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันภายในภูมิภาคที่จะยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วง 15 ปีข้างหน้า ผู้บริหารจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่ดึงดูด และรักษาคนเก่งไว้กับองค์กรให้ได้ในระยะยาว”
ผลสำรวจกลับพบว่า ซีเอฟโอที่ทำการสำรวจมากถึง 78% ระบุว่า องค์กรของพวกเขายังไม่มีการวางแผนด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลฝ่ายการเงินอย่างเหมาะสม เทรนด์อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น คือ บริษัทขนาดใหญ่จะยังคงความได้เปรียบในการสรรหาทาเลนต์ในตลาดแรงงานได้มากกว่าองค์กรที่มีขนาดกลาง และขนาดเล็ก แต่การจ้างงาน หรือแต่งตั้งคนในตำแหน่งซีเอฟโอในอนาคต จะต้องมีคุณสมบัติอันพึงประสงค์ รวมทั้งความรู้ ความชำนาญที่เพียบพร้อม ไม่จำกัดเฉพาะทางด้านการเงินอย่างเดียวอีกต่อไป
น.ส.วิไลพร ขยายความต่อว่า ธุรกิจในอนาคตจะต้องการซีเอฟโอที่เป็นมากกว่าซีเอฟโอทั่วไป คือ มีความสามารถรอบด้าน มีความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ในการบริหารงานจากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เพื่อช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโต รวมทั้งมีความสามารถในการบริหารจัดการรายจ่ายไปพร้อมๆ กับการเพิ่มผลผลิต และผลกำไรให้แก่ธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีทักษะในการบริหารคน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Soft skills) เช่น ทักษะการสื่อสารและแก้ปัญหาความขัดแย้ง การจูงใจ การเจรจาต่อรอง การคิดเชิงกลยุทธ์ และการสร้างทีมงาน เป็นต้น
แม้ในภาพรวม เออีซีจะช่วยให้ซีเอฟโอมีตัวเลือกมากขึ้นในการจ้างคน เพราะตลาดแรงงานใหญ่ขึ้น แต่ผลสำรวจยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวโน้มการบริหารบุคลากรในอีก 15 ปีข้างหน้าอีกด้านหนึ่ง โดยพบว่า ขนาดของฝ่ายการเงินมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริษัทมีแนวคิดในการนำเครื่องจักรกล หรือเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น รวมถึงการนำรูปแบบการจ้างบริการร่วมกัน (Shared service) หรือจ้างพนักงานแบบชั่วคราวจากภายนอก (Outsourcing) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านบุคลากร และบริหารบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เทคโนโลยี พลิกโฉมบทบาทฝ่ายการเงิน
น.ส.วิไลพร กล่าวต่อว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็น 1 ใน 5 เมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการเงิน จากผลการสำรวจในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า จากนี้ไปจนถึงปี 2573 รูปแบบการทำงานของฝ่ายการเงินจะเปลี่ยนแปลงไป โดยซีเอฟโอถึง 57% ระบุว่า ในขณะนี้ได้นำเทคโนโลยีจากหลากหลายแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยในการทำงานของฝ่ายการเงิน เพื่อเก็บข้อมูล และจัดทำรายงานงบการเงิน และในอนาคตคาดว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ จะยิ่งส่งผลให้มีทางเลือกที่หลากหลายของแพลตฟอร์ม ที่แผนกการเงินสามารถนำมาใช้เพิ่มศักยภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น
“ในระยะต่อไป ซีเอฟโอจะต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี รู้จักที่จะนำเทคโนโลยีมาต่อยอด และเลือกที่จะลงทุน หรือนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ต่อฝ่ายการเงิน หรือธุรกิจโดยรวมอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร”
จากประเด็นดังกล่าวยังส่งผลให้ความท้าทายของซีเอฟโอและฝ่ายการเงินในช่วงเวลาอีก 15 ปีข้างหน้า หนีไม่พ้นเรื่องของการวางยุทธศาสตร์องค์กรที่สามารถผสมผสานเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทั้งที่นำมาใช้ในการปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบันและอนาคตให้เป็นหนึ่ง และมั่นใจได้ว่า ข้อมูลที่ได้รับมีความสัมพันธ์สอดคล้อง (Relevant) ถูกต้อง (Accurate) ตรงเวลา (Timely) และสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลจากที่ไหนก็ได้เมื่อต้องการ (Mobile)
น.ส.วิไลพร กล่าวทิ้งท้ายว่า “วันนี้เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงบทบาท และหน้าที่ของฝ่ายการเงิน รวมถึงแผนกอื่นๆ ในองค์กรด้วย ดังนั้น ซีเอฟโออาเซียนจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเอง เร่งศึกษา ทำความเข้าใจสภาพแวดล้อม และความท้าทายของธุรกิจให้ถ่องแท้ รวมถึงก้าวให้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เข้าใจว่าควรนำเทคโนโลยีใดมาปรับใช้กับธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานทั้งกับฝ่ายการเงิน และองค์กรโดยรวม”