xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจ 250 รายขนสินค้าเซลแหลก งานท็อปไทยแบรนด์ คาดเงินสะพัด 100 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธุรกิจ 250 ราย ขนสินค้าลดราคาเอาใจขาชอปงาน Top Thai Brands ที่อุดรธานี เผยสหพัฒน์ลดราคา 30-70% ซีแวลู ขนอาหารทะเลจำหน่ายราคาทุน ส่วนไทยเบฟ มาลี มิตรผล ศรีไทย เบทาโกร เอสซีจี ไม่น้อยหน้า จัดลดราคาพิเศษเพียบ มั่นใจช่วยลดค่าครองชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค คาดเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมเปิดงาน Top Thai Brands ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติในส่วนภูมิภาคครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 30 ก.ย.-4 ต.ค.2558 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี โดยจะนำสินค้าแบรนด์ระดับคุณภาพส่งออก และแบรนด์ชั้นนำของประเทศกว่า 250 ราย ไปจัดแสดง และลดราคาจำหน่ายเพื่อช่วยลดภาระด้านค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้มาเข้าเยี่ยมชมงานทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการทั้งใน และต่างประเทศ และผู้นำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ จีน ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม จำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน และประเมินว่าจะมีเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

สำหรับสินค้าที่จะนำมาลดราคาในครั้งนี้ เช่น เครือสหพัฒน์ นำสินค้ามาลดราคา 30-70% บริษัท ซี แวลู ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่พันท้ายนรสิงห์ ผู้ผลิตน้ำจิ้มรายใหญ่ นำสินค้ามาจำหน่ายในราคาทุน กสิสุรีย์ ผู้จำหน่ายน้ำมันรำข้าวอัลฟาวัน ลดราคาจำหน่ายเหลือ 150 บาท ส่วนรายอื่นๆ เช่น ไทยเบฟเวอเรจ มาลีสามพราน น้ำตาลมิตรผล ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ เบทาโกร SCG Packaging แอลเอไบซิเคิล ยูเอฟซี ข้าวแสนดี เป็นต้น ได้ตอบรับที่จะนำสินค้ามาจำหน่ายในราคาพิเศษเช่นเดียวกัน

นางนันทวัลย์ กล่าวว่า ได้มีการจัดโซนแสดงสินค้าของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) สินค้าจาก Farm Outlet สินค้าจากเกษตรกร สินค้า OTOP Top Brands สินค้าหัตถกรรม Craft Trend จากศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เป็นต้น ซึ่งได้รับการคัดสรรว่ามีศักยภาพในการพัฒนามาจัดแสดง และจัดจำหน่ายด้วยประมาณ 90 ราย เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่าปัจจุบันนี้สินค้าของ SMEs สินค้าชุมชนมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ได้ตั้งเป้าหมายที่จะช่วยยกระดับผู้ประกอบ SMEs และผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาคได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ผลิตรายใหญ่ เพื่อนำมาปรับใช้กับการผลิต และพัฒนาสินค้าของตัวเองเพื่อให้มีการพัฒนาสินค้า จนเป็นผู้ผลิตรายกลาง รายใหญ่ และผลักดันให้มีการส่งออกต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ของรัฐบาล” นางนันทวัลย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังได้จัดให้มีโปรแกรมการพัฒนาผู้ประกอบการในหัวข้อต่างๆ เช่น นโยบายเขตพัฒนาเศรษกิจพิเศษของรัฐบาล จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคอย่างไร มาตรฐาน Thai GAP จะช่วยยกระดับสหกรณ์ และเกษตรกรได้อย่างไร การเปิดโลกแฟรนไชส์ไทยสู่ AEC มุมมองเทรนด์การค้าโลก การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเข้าถึงแหล่งทุน และการเลือกซื้อเครื่องประดับอย่างมั่นใจ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น