xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายเอดส์บุก “พาณิชย์” ค้านรับจดสิทธิบัตรยาเอชไอวีสูตร 3 ป้องกันการผูกขาดยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายเอดส์บุก “พาณิชย์” ยื่นคัดค้านรับจดสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตร 3 เหตุมีการเปลี่ยนแปลงสูตรยาเพียงเล็กน้อย ด้าน “นันทวัลย์” รับคำร้องแล้ว พร้อมพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า วันนี้ (24 ก.ย.) ตัวแทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และภาคประชาสังคม ประมาณ 50 คน ได้เดินทางมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านคำขอสิทธิบัตรยารัลทีกราเวียร์ (Raltegravir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตร 3 ของบริษัท เมิร์คชาร์ปแอนโดห์ม (MSD) ตามมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร โดยมีตัวแทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญารับเรื่องดังกล่าวไว้

สาเหตุที่มายื่นหนังสือคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าคำขอสิทธิบัตรดังกล่าวเข้าข่ายการขอรับสิทธิบัตรที่มีข้อถือสิทธิหลัก เป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสิ่งประดิษฐ์เพียงเล็กน้อย หรือแบบ evergreening patent ก่อให้เกิดการผูกขาดในการวิจัยและการจำหน่าย ทำให้ผู้ผลิตยาชื่อสามัญไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ บริษัทยาต้นแบบหรือเจ้าของสิทธิบัตรจึงมีอำนาจในการกำหนดราคายาแต่เพียงผู้เดียว

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมฯ ได้รับเรื่องจากตัวแทนที่มายื่นหนังสือไว้แล้ว และจากนี้จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป โดยกระบวนการ เมื่อรับหนังสือคัดค้านแล้ว ผู้ยื่นคัดค้านสามารถส่งหลักฐานเพิ่มเติมภายใน 30 วัน หลังจากนั้นกรมฯ จะส่งสำเนาคำคัดค้านให้ผู้ขอรับสิทธิบัตร เพื่อให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรโต้แย้งได้ภายใน 90 วัน โดยผู้ขอรับสิทธิบัตรสามารถส่งหลักฐานเพิ่มเติมได้อีกภายใน 30 วัน จากนั้นกรมฯ จะส่งคำโต้แย้งให้ผู้คัดค้านทราบ

ทั้งนี้ ในขณะเดียวกันกลุ่มงานคัดค้านวินิจฉัยจะดำเนินการวินิจฉัย และแจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้คัดค้านและผู้ขอรับสิทธิบัตร หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ภายใน 60 วัน

“ทุกอย่างจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่มีอยู่ เมื่อมีผู้ยื่นเรื่องคัดค้านการจดสิทธิบัตรยาก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการ โดยเปิดโอกาสให้ส่งคำคัดค้านเข้ามา และแจ้งไปยังผู้ขอจดเพื่อโต้แย้ง โดยจะมีขั้นตอนของกระบวนการตรวจสอบว่าการจดสิทธิบัตรดังกล่าวเข้าข่าย evergreening patent หรือสิทธิบัตรที่ไม่มีวันหมดอายุจริงหรือไม่ ประกอบการพิจารณาการรับจดสิทธิบัตร” นางนันทวัลย์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น