ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ จับมือพันธมิตรไต้หวันผุดโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น รวมกำลังผลิต 105 เมกะวัตต์ คาดทยอยแล้วเสร็จไม่เกินปีครึ่ง ด้านกลุ่มเชาว์สตีลฯ เสนอ 2 โครงการโซลาร์ฟาร์มใหม่ รวม 50-60เมกะวัตต์ คาดเอ็มโอยูในปลายปีนี้
นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับบริษัทไต้หวันเพื่อลงทุนถือหุ้นในโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มหลายแห่งที่ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตรวม 105 เมกะวัตต์ หลังจากทำดีลดิลิเจนต์แล้วเสร็จ โดยราชบุรีฯ จะถือหุ้นใหญ่เกิน 70% ที่เหลือเป็นพันธมิตรไต้หวัน
โครงการดังกล่าวพันธมิตรไต้หวันจะเป็นผู้ดูแลพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 1 ปีครึ่ง การตัดสินใจลงทุนดังกล่าวเนื่องจากเป็นโครงการที่ดี มีผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม นับเป็นอีกโครงการหนึ่งที่บริษัทเตรียมลงทุนโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น นอกเหนือจากการร่วมทุนกับกลุ่มเชาว์ สตีล อินดัสทรี้ ทำโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม จำนวน 2 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 33 เมกะวัตต์ โดยโครงการดังกล่าวนี้ทางราชบุรีฯ ถือหุ้น 60% ที่เหลือเชาว์สตีลถือหุ้น 40%
นายพงษ์ดิษฐกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทางเชาว์ สตีล ยังได้เสนอโครงการร่วมทุนผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มอีก 2 โครงการที่ประเทศญี่ปุ่น รวมกำลังการผลิต 50-60 เมกะวัตต์ คาดว่าจะลงนามบันทึกความเข้าใจกับเชาว์สตีลได้ภายในปลายปีนี้ โดยราชบุรีฯ จะถือหุ้นในสัดส่วน 60%
นอกเหนือจากโครงการโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นแล้ว ทางเชาว์สตีลร่วมกับราชบุรีฯ ยังสนใจที่จะทำโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ฟิลิปปินส์ด้วย แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการลงทุนโครงการดังกล่าว
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมที่ออสเตรเลียนั้น บริษัทฯ ยังได้ยื่นประกวดราคาเสนอขายไฟในโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมที่ Collector Wind Farm กำลังการผลิต 228 เมกะวัตต์ ภายหลังจากรัฐบาลออสเตรเลียสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน โดยประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมเพิ่มเติม คาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายปีนี้
ที่ผ่านมาบริษัทได้รับใบอนุญาตให้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้ 3 โครงการในออสเตรเลีย แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังลม 2 โครงการ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1 โครงการ แต่ยังไม่ได้มีการพัฒนาโครงการไม่สามารถหาผู้รับซื้อไฟได้ เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าในออสเตรเลียเกินความต้องการใช้มากทำให้ค่าไฟถูกจนไม่คุ้มการลงทุน
นายพงษ์ดิษฐกล่าวถึงโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าในไทยว่า ในปีนี้จะเห็นโรงไฟฟ้าสงขลา ไบโอแมส เฟส 1 มีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคมนี้ และบริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนโครงการเฟส 2 อีก 10 เมกะวัตต์ด้วย
รวมทั้งเดินโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่แพรกษาใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 900 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จธันวาคม 2559 โดยโครงการนี้ค่อนข้างล่าช้ากว่าแผนจากการออกแบบและขอใบอนุญาต รง.4