xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กโย่ง” สั่ง “กฟผ.” ทำข้อมูลด้านไฟฟ้าให้ชัดหลังถูกกังขาสำรองสูงเกินจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รัฐมนตรีมอบนโยบาย “กฟผ.” เร่งจัดทำข้อมูลด้านไฟฟ้าให้ชัดเจน โดยเฉพาะกำลังการผลิตและสำรองไฟฟ้าเพื่อที่จะชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจได้ถูกต้องมากขึ้น หลังประชาชนบางกลุ่มมองว่าสำรองไฟของไทยนั้นสูงเกินจริง รวมถึงความจำเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน


วันนี้ (7 ก.ย.) นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ร่วมให้การต้อนรับ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ในโอกาสเข้าตรวจเยี่ยม กฟผ. รับฟังบรรยายสรุปภารกิจในภาพรวม และการดำเนินงานที่สำคัญ พร้อมทั้งดูความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 ณ สำนักงานกลาง กฟผ. บางกรวย นนทบุรี

นายอนันตพรกล่าวว่า ได้มอบให้ กฟผ.จัดทำข้อมูลให้ชัดเจนทุกด้านเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับกำลังการผลิตไฟฟ้าหรือปริมาณสำรองไฟฟ้ากับประชาชน รวมถึงความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากประชาชนบางกลุ่มยังเข้าใจว่าสำรองไฟของไทยตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าสูงเกินไป พร้อมกับให้ดูในเรื่องของระบบสายส่งในการรองรับกำลังผลิตไฟในอนาคตซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2566

“ประเทศเพื่อนบ้านมีโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่บางประเทศมีก๊าซ น้ำมันมาก เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสัดส่วนใช้ถ่านหินก็สูงเมื่อเทียบกับไทย ทำไมเขาสร้างได้เรื่องนี้ผมเองก็ต้องดูเพราะรับทราบข้อมูลแล้วแต่ก็ให้ไปทำข้อมูลใหม่เกี่ยวกับสำรองจะได้ช่วยชี้แจง” รมว.พลังงานกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าของวันที่ 7 ก.ย. เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือพีดีพี 2015 เช่น เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน นำโดย นายอิสดาเรส หะยีเด รองนายกเทศมนตรีตำบลเทพา จังหวัดสงขลา ได้เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา โดยมีนายธนวัช จึงพานิช และนายวชิรวิชญ์ บุญสม เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ เนื่องจากมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างภายในระยะเวลา 12 ปีนับจากนี้ เพราะขณะนี้แม้จะไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังสำรองไฟฟ้าของประเทศก็มีแนวโน้มว่าจะสูงเกินค่ามาตรฐานที่ 15% ไปค่อนข้างมากแล้ว สวนทางกับเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางขยายตัวลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น