xs
xsm
sm
md
lg

กกร.พอใจแผนคมนาคม 17 โครงการเร่งด่วน ลงทุน 1.6 ล้านล้านในปี 58-59

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“อาคม” หารือร่วม กกร. แจงแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเร่งด่วน 17 โครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคเอกชนพอใจพร้อมหนุนรัฐเร่งผลักดันเป็นรูปธรรมในปี 58-59 ตามเป้า เตรียมต่อยอดการลงทุนภาคการผลิตและเกษตร หลังระบบคมนาคมขนส่งสะดวกมากขึ้น พร้อมเสนอแก้ปัญหากฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งรถบรรทุก และยกสนามบินนครพนมและบุรีรัมย์เป็นสนามบินนานาชาติ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า เป็นการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของรัฐบาล ซึ่งในปี 2558-2559 มีแผนเร่งรัดเพื่อขับเคลื่อนงาน 17 โครงการ วงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหาให้ภาคเอกชน โดยจะมีการประชุมร่วมกันทุก 2 เดือนจากเดิมทุก 3 เดือน และแบ่งเป็น 4 หมวด คือ ทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ ทางราง และแต่ละหมวดจะแยก 3 ประเด็น ได้แก่ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน, ด้านกฎกติกาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ และปัญหาเร่งด่วนที่กระทบต่อการทำธุรกิจ

ทั้งนี้ เรื่องเร่งด่วนที่ภาคเอกชนต้องการให้แก้ปัญหาคือ การขนส่งด้วยรถบรรทุก กรณีน้ำหนักระหว่าง 1,600 กก. และ 2,200 กก. และความสูงที่ 4 เมตร กับ 4.20 เมตร ซึ่งมีกฎหมายเกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ กฎหมายขนส่งทางบก และกฎหมายจราจร เช่น รถเทรลเลอร์ขนส่งรถยนต์เพื่อส่งมอบไปยังศูนย์จำหน่ายตามภูมิภาค ตามกฎหมายขนส่งทางบก กำหนดความสูงวัดจากพื้นถึงตัวรถไม่เกิน 4 เมตร เมื่อขนส่งจริงความสูงเกินมาอยู่ที่ 4.20 เมตร ซึ่งจะเข้ากฎหมายจราจร ซึ่งเป็นปัญหา ดังนั้นจะต้องรวบรวมปัญหาเพื่อเร่งเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อพิจารณาปรับให้สอดคล้องกัน นอกจากนี้ รวมถึงการขนส่งด้วยรถบรรทุกระหว่างไทยกับมาเลเซียที่มีปัญหาเรื่องมาตรฐานรถ ซึ่งกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) รับที่จะเจรจากับมาเลเซียเพื่อแก้ปัญหา และทำให้เอกชนสองฝ่ายสามารถนำรถวิ่งเข้าไปทำธุรกิจได้สะดวกมากขึ้น

นอกจากนี้ ภาคเอกชนต้องการความชัดเจนในการพัฒนาสนามบินภูมิภาคที่นครพนม และบุรีรัมย์ เพื่อยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติ เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ประกอบกับสามารถเชื่อมต่อกับเวียดนามและกัมพูชาได้ ซึ่งจะยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติได้หรือไม่จะต้องพิจารณาข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น มีเที่ยวบินระหว่างประเทศบินตรงมาใช้บริการหรือไม่ ซึ่งพบว่ายังไม่มี ดังนั้นอาจจะเป็นการให้บริการเที่ยวบินต่อเชื่อมแบบ Connecting Flight โดยรองรับผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศจากสนามบินหลักส่งต่อมากับเที่ยวบินภายในประเทศ ซึ่งจะต้องเตรียมบุคลากรด้านตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร ไว้รองรับผู้โดยสาร CIQ (Customs Immigration Quarantine)

อย่างไรก็ตาม กรมการบินพลเรือน (บพ.) มีแผนพัฒนาสนามบินภูมิภาคทั้ง 28 แห่งอยู่แล้ว และกำลังศึกษาเพื่อก่อสร้างสนามบินที่มุกดาหารและยโสธร (เลิงนกทา) เพิ่มอีกด้วย

นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แผนงานการลงทุน 17 โครงการภายในปี 2558-2559 ถือว่ามีความเหมาะสมแล้ว เพราะทุกโครงการมีความสำคัญทั้งทางถนน ทางราง ทางอากาศ และเชื่อว่ารัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุนในแต่ละโครงการอย่างชัดเจน จึงรู้สึกมั่นใจว่าจะสามารถเดินหน้าทั้ง 17 โครงการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และในขณะนี้ภาคเอกชนจะยังไม่เสนออะไรเพิ่มเติมเพราะต้องการให้รัฐบาลขับเคลื่อน 17 โครงการที่เร่งด่วนออกมาให้ได้ก่อน เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความสะดวกจะเพิ่มความคล่องตัวในการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลนี้ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจให้แก่ภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ ส่วนเอกชนนั้นพร้อมที่จะเข้าลงทุนในส่วนที่สนับสนุน เช่น จุดพักรถ หรือร้านค้าร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงภาคการผลิต

“หลายโครงการจะมีการลงทุนพัฒนานั้นอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่ยังมีความสามารถในการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะภาคการเกษตร และภาคการผลิต เมื่อมีระบบโครงข่ายคมนาคมที่คล่องตัวมากขึ้น การลงทุนในภาคการผลิต การเกษตรจะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย” นายสมเกียรติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น