xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานเร่งขยายสายส่งรองรับพลังงานทดแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานกางแผนระบบสายส่ง 6 สายใน 3 ภูมิภาค พร้อมรองรับพลังงานทดแทนทั้งประเทศได้ 5,180 เมกะวัตต์


นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.ได้หารือร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเตรียมขยายระบบสายส่งไฟฟ้าให้สามารถรองรับพลังงานทดแทนได้ทั่วประเทศ พร้อมดำเนินการปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าให้เกิดความมั่นคงในระยะยาว โดยแผนงานการขยายและปรับปรุงระบบสายส่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 และกรกฎาคม 2558 แล้ว 6 สาย ใน 3 ภูมิภาค ซึ่งสามารถรองรับพลังงานทดแทนทั้งประเทศรวมได้ 5,180 เมกะวัตต์

สายส่งที่ 1 - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 เริ่มดำเนินการในปี 2559 กำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 ก่อสร้างสายส่ง 500 กิโลโวลต์ ผ่านพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และชัยภูมิ ระยะทางประมาณ 348 กิโลเมตร สามารถรองรับพลังงานทดแทนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง รวมกันได้เพิ่มอีก 1,600 เมกะวัตต์
สายส่งที่ 2 - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 เริ่มดำเนินการในปี 2563 กำหนดแล้วเสร็จปี 2566 ก่อสร้างสายส่ง 500 กิโลโวลต์ ผ่านพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา มายังภาคกลางบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร ระยะทางประมาณ 768 กิโลเมตร สามารถรองรับพลังงานทดแทนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง รวมกันได้เพิ่มอีก 2,730 เมกะวัตต์

สายส่งที่ 3 - ภาคกลาง เริ่มดำเนินการในปี 2561 กำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 ก่อสร้างสายส่ง 500 กิโลโวลต์ ผ่านพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ มายังปทุมธานี ระยะทางประมาณ 183 กิโลเมตร สามารถรองรับพลังงานทดแทนในภาคเหนือ และภาคกลาง รวมกันได้เพิ่มอีก 460 เมกะวัตต์

สายส่งที่ 4 - ภาคใต้ 1 เริ่มดำเนินการในปี 2559 กำหนดแล้วเสร็จปี 2560-2562 โดยการขยายขนาดสายส่ง 230 กิโลโวลต์ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ไปยังสุราษฎร์ธานี และก่อสร้างสายส่ง 500 กิโลโวลต์ จากจังหวัดราชบุรี ไปยังประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต ระยะทางประมาณ 780 กิโลเมตร สามารถรองรับพลังงานทดแทนในภาคใต้ รวมกันได้เพิ่มอีก 260 เมกะวัตต์

สายส่งที่ 5 - ภาคใต้ 2 เริ่มดำเนินการในปี 2562 กำหนดแล้วเสร็จปี 2565 ก่อสร้างสายส่ง 500 กิโลโวลต์ ผ่านพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี เพิ่มเติมอีก 2 วงจร ระยะทางประมาณ 313 กิโลเมตร สามารถรองรับพลังงานทดแทนในภาคใต้ รวมกันได้เพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์

สายส่งที่ 6 - ภาคใต้ 3 (ตอนล่าง) อยู่ในขั้นตอนรอเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2560 ก่อสร้างสายส่ง 500 กิโลโวลต์ จำนวน 2 วงจร ผ่านพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ระยะทางประมาณ 333 กิโลเมตร สามารถรองรับพลังงานทดแทนในภาคใต้ รวมกันได้เพิ่มอีก 100 เมกะวัตต์
กำลังโหลดความคิดเห็น