สนพ.รับฟังความเห็นการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานราชการ-สหกรณ์การเกษตร ยอมรับยังมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ต้องแก้ไข เตรียมเสนอ “กพช.” เลื่อน COD จาก มิ.ย. 59 เป็น มิ.ย. 60 และปี 61
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์กลั่นกรองและคัดเลือกโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร กล่าวในโอกาสรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางรัฐบาลกำหนดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้รวม 800 เมกะวัตต์ โดยทางคณะอนุกรรมการฯ จะมีการสรุปข้อคิดเห็นและนำเสนอคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อไปเพื่อประกาศรับซื้อ โดยคาดว่าจะเปิดให้เอกชนยื่นขายไฟได้ประมาณ ม.ค. 59
ทั้งนี้ เบื้องต้นจากการรับฟังความคิดเห็นไป 4 ครั้งแล้ว พบว่ายังมีปัญหาทางปฏิบัติ เช่น ระเบียบราชการ กฎหมาย รวมถึงปริมาณและพื้นที่สายส่งที่จะรับซื้อ โดยกำหนดเขตพื้นที่ที่เรียกว่าโซนนิ่ง เบื้องต้นทาง 3 การไฟฟ้ารายงานว่าไม่สามารถประกาศรับซื้อในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เนื่องจากสายส่งเต็ม แต่ทางสหกรณ์การเกษตรได้คัดค้าน จากเดิมมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ภายใน มิ.ย. 59 จะมีการเสนอ กพช.ให้ขยายเวลาออกไปเป็นมิ.ย. 60 ระยะแรก และระยะ 2 เป็นปลายปี 2561
“เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะกำหนด COD ภายในปลายปี 2561 โดยกรอบที่รัฐบาลกำหนดให้มีการรับซื้อ 800 เมกะวัตต์ แต่ขณะนี้กระแสความสนใจเข้าโครงการมากกว่าจำนวนที่กำหนด หาก กพช.ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติเดิม โดยไม่ขยายปริมาณการรับซื้อที่ 800 เมกะวัตต์ แนวทางที่จะดำเนินการก็คงจะต้องจับฉลากรับซื้อปริมาณที่กำหนด โดยคำนึงถึงพื้นที่โซนนิ่งที่เหมาะสม และอาจจะแบ่งปริมาณให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนทั้งสหกรณ์การเกษตร พื้นที่ทหาร พื้นที่หน่วยราชการ และอื่นๆ” นายทวารัฐกล่าว