xs
xsm
sm
md
lg

“นีลเส็น” ดิ้นงัดมุกใหม่สู้ เปิดทางพร้อมร่วม MRB วัดเรตติ้งทีวี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“นีลเส็น” ดิ้นสู้ “MRB” เปิดตัว “ดิจิตอล แอด เรตติ้ง” เชื่อบริการใหม่ดึงลูกค้าติดหนึบ ชูความเป็นอิสระเป็นกลางในการวิจัยเรตติ้งสู้คู่แข่ง ไม่อัปราคาค่าบริการ ลั่นพร้อมจับมือกับทุกฝ่ายให้ความร่วมมือจัดทำวิจัยกับ MRB

นายสินธุ์ เภตรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจมีเดีย บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจงานวิจัยเรตติ้งโฆษณาถือเป็นตลาดเปิด ไม่ใช่ตลาดผูกขาด เมื่อมีผู้เล่นเข้ามาใหม่ย่อมเกิดการแข่งขัน แม้ว่านีลเส็นจะเข้ามาทำธุรกิจวิจัยเรตติ้งโฆษณาในไทยตั้งแต่ปี 2528 ก็ตาม แต่ก็ต้องมีการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนีลเส็นพร้อมที่จะนำเสนอบริการใหม่ๆ ที่คุ้มค่าและคุ้มราคาให้แก่ลูกค้าต่อไปให้มากที่สุด โดยยืนยันที่จะยังไม่มีการปรับขึ้นราคา แต่จะยังคงเดินหน้าธุรกิจงานวิจัยโฆษณาในไทยอย่างต่อเนื่อง

“ตลาดวิจัยโฆษณาเมื่อมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาอาจจะต้องคิดหนักหน่อย เมื่อเทียบกับรายเดิมที่อยู่มานานกว่าและมีบริการพัฒนานำเสนอไปก่อนหน้าแล้ว ซึ่งนีลเส็นพร้อมที่จะพัฒนาบริการใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง และคิดราคาค่าบริการที่เหมาะสมกับสภาพตลาดที่ลูกค้ารับได้ ไม่ผูกมัดลูกค้า ในการเซ็นสัญญาใช้บริการทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว ที่สำคัญจากความเป็นบริษัทอิสระไม่ขึ้นกับองค์กรใด ย่อมมีความเป็นกลางสูงในการนำเสนองานวิจัยโฆษณา”

ดังนั้น ในอนาคตถึงแม้จะมีผู้เล่นเข้ามาใหม่และราคาค่าบริการจะแข่งขันสูงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของตลาดนี้ก็ตาม แต่นีลเส็นยังคงราคาค่าบริการเดิม หรืออยู่ในราคาที่ลูกค้าซื้อได้และคุ้มค่ากับที่ซื้อไป ที่สำคัญยังพร้อมทำงานร่วมกับสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ที่ได้ตั้งหน่วยงาน Media Research Bureau หรือ MRB ด้วย

นายสินธุ์กล่าวต่อว่า จากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ของไทยที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่บริษัทให้บริการวิจัยเรตติ้งโฆษณาในสื่อทีวีเป็นหลัก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นีลเส็นได้ร่วมกับยูนิลีเวอร์ และมายด์แชร์ ในการลงทุนและเดินหน้าพัฒนาบริการใหม่คือ “ดิจิตอล แอด เรตติ้ง” รวมทั้งหมด 3 เฟส

เริ่มจาก 1. เฟสแรก การวิจัยเรตติ้งโฆษณาในสื่อออนไลน์ผ่านทางแล็ปท็อปและเดสก์ท็อปภายใต้กลุ่มตัวอย่าง 3 ทาง คือ 1. ผู้ใช้งานผ่านแล็ปท็อปและเดสก์ท็อป 65,000 ราย 2. การจับมือกับเฟซบุ๊กด้วยจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยอีก 20-22 ล้านยูสเซอร์ 3. คอนซูเมอร์ มีเดีย วิว อีก 9,000 คน ซึ่งได้มีการทดลองการทำงานผ่านการฝังโค้ดไปยังโฆษณาชิ้นนั้น รวมกว่า 100 แคมเปญตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ในการหาค่าเรตติ้งการเข้าถึงแคมเปญโฆษณาชิ้นนั้นในโลกออนไลน์ว่ามีมากเพียงใดและตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากน้อยเพียงใด ซึ่งผลวิจัยดังกล่าวส่งผลให้ในปีนี้ยอดการใช้เงินโฆษณาในสื่อออนไลน์โตขึ้นกว่า 30% หรือคิดเป็น 5.6% เมื่อเทียบกับเม็ดเงินโฆษณารวมที่ใช้ในสื่อทีวีทั้งหมด

2. เฟสสอง การทำงานคล้ายกับเฟสแรก แต่จะเพิ่มกลุ่มตัวอย่างที่ใช้งานออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเข้ามา คาดว่าจะเปิดใช้บริการปลายปีนี้ และ 3. เฟสสาม จะเป็นดิจิตอล คอนเทนต์ เรตติ้ง ซึ่งอยู่ในช่วงพัฒนาและยังไม่มีแผนในการเปิดใช้บริการจนกว่า 2 เฟสแรกจะทำงานได้อย่างดีซึ่งเป็นบริการที่ขึ้นตรงกับลูกค้าแต่ละรายที่ต้องการใช้บริการ ถือเป็นบริการที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายสูง

“ดิจิตอล แอด เรตติ้ง ทั้ง 2 เฟสจะเป็นการคำนวณหาค่าสถิติตัวเลขผู้บริโภคที่เข้าถึงโฆษณาชิ้นนั้นๆ ในช่องทางออนไลน์ทั้งเดสก์ท็อป แล็ปท็อป มือถือ และสมาร์ทโฟน ผ่านกลุ่มตัวอย่างที่ใช้งานไม่ต่ำกว่า 22 ล้านคน สามารถหาค่าสถิติตัวเลขที่ทับซ้อนกันของโฆษณาชิ้นนั้นระหว่างสื่อทีวีและสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องว่างของตลาดนี้ที่ยังไม่มีใครสามารถเก็บตัวเลขนี้ได้ เช่นเดียวกัน ดิจิตอล คอนเทนต์ เรตติ้ง เพียงเปลี่ยนจากโฆษณามาเป็นคอนเทนต์รายการ และต้องขึ้นอยู่กับแต่ละสถานีด้วย จึงจะหาค่าสถิติเหล่านี้ได้ ในการนำมาใช้หาค่าเรตติ้งและทางเลือกในการสร้างกลุ่มผู้ชมในช่องทางต่างๆ ของแต่ละสถานีให้ดียิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม บริการดิจิตอล แอด เรตติ้ง จะเปิดให้บริการพร้อมกันใน 16 ประเทศทั่วโลก หรือคิดเป็น 95% ของตลาดโฆษณาออนไลน์ของโลก ขณะที่ปัจจุบันตลาดโฆษณาของไทยในสื่อออนไลน์มีสัดส่วนที่ 5.6% เทียบกับระดับโกลบอลที่มีสัดส่วนสูงถึง 28.78% ถือว่าน้อยมาก ขณะที่ในสหรัฐอเมริกามีสัดส่วน 31% เยอรมนี 24.07% และญี่ปุ่นมีสัดส่วน 23.91% ส่งผลให้เชื่อว่าไทยมีโอกาสเติบโตขึ้นไปถึงในระดับนั้นได้เช่นเดียวกัน ส่วนจะเกิดได้เร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การเข้าถึงเครื่องมือและอุปกรณ์แกดเจ็ตต่างๆ ราคามือถือและอุปกรณ์เหล่านี้ถูกลง มือถือเข้าถึงระบบ 4G หรือมากกว่า และซิม หรือระบบอินเทอร์เน็ตที่ดีมีความไวสูงก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดโฆษณาออนไลน์จะเติบโตได้อีกมาก

นายสินธุ์กล่าวสรุปว่า ปัจจุบันกลุ่มตัวอย่างของนีลเส็นในช่องทางทีวีมีอยู่ 2,200 ครัวเรือน เทียบกับของ MRB ที่มีกว่า 3,000 ครัวเรือน พบว่าความคลาดเคลื่อนห่างกันเพียง 0.05% เท่านั้น นีลเส็นเชื่อว่าด้วยกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสม บวกกับกลุ่มตัวอย่างออนไลน์กว่า 22 ล้านรายมีอยู่ในมือผ่านความร่วมมือกับเฟซบุ๊ก จะเป็นบริการใหม่ที่ลูกค้าจะให้การตอบรับที่ดี ซึ่งขณะนี้มีการเจรจาเซ็นสัญญาเลือกใช้บริการดิจิตอล แอด เรตติ้ง แล้วหลายราย โดยเฉพาะสถานีที่มีเว็บไซด์และช่องทางรับชมอื่นๆ ให้ความสนใจอย่างมาก เช่น แกรมมี่, ช่อง7, เวิร์คพ้อยท์ทีวี และไทยรัฐทีวี เป็นต้น ทั้งนี้ นีลเส็นพร้อมนำเสนอแก่ลูกค้าทุกราย ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม รวมถึงเอเยนซี่ด้วย มีการเซ็นสัญญาทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อปี ท้ายที่สุดขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าจะเลือกใช้บริการของใคร



กำลังโหลดความคิดเห็น