xs
xsm
sm
md
lg

“อิตัลไทย” ลุยพัฒนาทวายเฟสแรก 6 หมื่นล้าน เผยล็อตแรก 700 ไร่ขายเกลี้ยงแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการและประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD
“อิตัลไทย” เซ็นสัญญาสัมปทานทวายเฟสแรก พัฒนาพื้นที่ 1.6 หมื่นไร่ใน 8 ปี ลงทุนเกือบ 6 หมื่นล้านบาทเก็บเกี่ยวสัมปทานยาว 75 ปี เผยล็อตแรก 700 ไร่ขายเกลี้ยงเตรียมโอนได้ในปลายปีนี้ “เปรมชัย” ระบุแหล่งเงินไร้ปัญหา มีพร้อมกว่าครึ่งแล้ว มั่นใจผลตอบแทนดี นักลงทุนเชื่อมั่น ฟุ้งปี 59 บริษัทฯ รายได้แตะแสนล้านบาท ทยอยรับงานรัฐ เอกชนต่อเนื่อง ส่วนทวายเต็มรูปแบบ คาดมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท จ่อเจรจาร่วมทุนญี่ปุ่นประมูลในอีก 4 ปีข้างหน้า

นายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการและประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา บริษัทฯ และคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนภายใต้บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศพม่า ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการทวายระยะแรกกับคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone Management Committee) ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เพื่อดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมพื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตร พร้อมกับยังได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีก 8 ตารางกิโลเมตร หรืออีก 4,000 กว่าไร่ รวมเป็นพื้นที่ขายประมาณ 16,000 ไร่ โดยใช้เวลาพัฒนาทั้งหมด 8 ปี ในส่วนของสัญญาสัมปทานทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับของ Myanmar Special Economic Zone Law มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี และสามารถขยายได้อีก 25 ปี โดยหลังลงนามสัญญาบริษัทฯ จะต้องจัดทำรายละเอียดแผนงาน ผู้ร่วมทุน ยืนยันกับรัฐบาลพม่าภายใน 90 วัน ซึ่งถือว่าโครงการทวายระยะแรกมีความก้าวหน้าและมีผลตอบแทนที่ดี สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ที่จะเข้าร่วมทุนที่จะเข้ามาพร้อมกับลูกค้าในมืออีกด้วย

โดยตามแผนโครงการพัฒนาระยะแรกคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนทั้งหมดประมาณ 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 60,000 ล้านบาท โดยประกอบด้วย 1. นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีพื้นที่ขายประมาณ 16,000 ไร่ แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน (A, B, C, D) ประเมินมูลค่าที่ดินเบื้องต้นที่ 3 ล้านบาทต่อไร่ โดยคาดว่ามูลค่ารวมจะไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท โดยเฟสแรกจะพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา และพื้นที่โซน A ประมาณ 3,000 ไร่ โดยในปี 2558 จะพัฒนา 700 ไร่ ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนจองหมดแล้ว จะมีรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท และปี 2559 จะพัฒนาอีกกว่า 2,200 ไร่ จะมีรายได้อีกประมาณ 7,000-8,000 ส่วนโซน B, C, D นั้นจะทยอยพัฒนาปีละประมาณ 3,000 ไร่จนครบ ซึ่งจะมีรายได้ประมาณปีละเกือบ 10,000 ล้านบาท

2. ถนนขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 140 กม. เชื่อมต่อโครงการทวายกับไทยที่บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือเงินกู้แก่รัฐบาลพม่า วงเงิน 4,500 ล้านบาท ระยะเวลาชำระคืน 30 ปี เพื่อสนับสนุนโครงการ โดยพม่าได้ให้บริษัทฯ เป็นผู้ก่อสร้าง 3. พัฒนาท่าเรือขนาดเล็ก 4. เขตที่อยู่อาศัย (Township) เพื่อเป็นที่พักสำหรับคนงาน ที่คาดว่าจะมีประมาณ 3 แสนคน 5. อ่างเก็บน้ำและระบบประปา 6. โรงไฟฟ้า (Boil-off Gas and Temporary Power Plants) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 มูลค่าลงทุนกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 17,000 ล้านบาท 7. โรงไฟฟ้า (Combined-Cycle Power Plant) 8. ระบบโทรคมนาคมผ่านสาย 9. LNG Terminal ซึ่งอยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด ขณะนี้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทเชลล์จองใช้พื้นที่หมดแล้ว โดย ปตท.จะนำเข้าก๊าซประมาณ 3 ล้านตัน คาดว่าจะใช้ได้กลางปี 2561 วงเงินลงทุนประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation : IFC) และธนาคารโลกแสดงความประสงค์จะให้กู้

นายเปรมชัยกล่าวว่า เงินลงทุนงานหลักๆ มีแล้วกว่าครึ่ง ซึ่งโครงการระยะแรกของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้นจะเป็นฐานการผลิตใหม่ของผู้ประกอบการ Medium & Light Industries ทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยจะเป็นฐานอุตสาหกรรมในการส่งออกทางทะเลสู่มหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามันและสามารถเชื่อมโยงกลับไปยัง Eastern Seaboard สู่ทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังจะได้ประโยชน์ในเรื่อง Generalized System Preference (GSP) จากอเมริกาและยุโรป ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิต ทั้งยังจะช่วยเพิ่มการลงทุนและเพิ่มอัตราการจ้างงานในประเทศพม่า และเปลี่ยนทวายเป็นปลายทางการลงทุนแห่งใหม่และเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญของภูมิภาค

สำหรับการพัฒนาเต็มรูปแบบ (FULL PHASE DEVELOPMENT) ซึ่งจะมีท่าเรือน้ำลึก รองรับสินค้าได้ 300 ล้านตันต่อปี จอดเรือได้ 55 ลำพร้อมกัน และโรงเหล็กขนาดใหญ่ อู่ต่อและซ่อมเรือขนาดใหญ่ เป็นต้น นั้น ทางประเทศญี่ปุ่นสนใจจะร่วมลงทุนแน่นอน โดยจะมีการศึกษาประมาณ 3 ปี และจัดทำทีโออาร์อีก 1 ปีจึงจะประมูลได้ คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยจะมี 6-7 สัญญา อายุสัมปทาน 50 ปีและต่ออีก 25 ปีรวมเป็น 75 ปี ซึ่งบริษัทฯ อาจจะพิจารณาร่วมทุนกับทางญี่ปุ่นในงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าจะยื่นประมูลแข่งขัน โดยใช้ประสบการณ์ในฐานะที่บริษัทฯ ได้เป็นผู้ดำเนินโครงการระยะแรก

นายเปรมชัยกล่าวว่า ในปีนี้บริษัทฯ ได้รับงานค่อนข้างมาก ทั้งงานของภาครัฐและเอกชน โดยในเดือน ก.ค.เซ็นสัญญามูลค่ารวมเกือบ 20,000 ล้านบาท เดือน ส.ค.อีกประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยขณะนี้มีมูลค่างานในมือ (Backlog) ประมาณ 300,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ปี 2558 -2560 บริษัทจะรับรู้รายได้ที่ประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อปี โดยในปี 2559 คาดว่ารายได้รวมจะแตะที่ 100,000 ล้านบาท เมื่อรวมทุกโครงการที่มีการลงนามสัญญาทั้งงานในประเทศและต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น