ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 คนกรุงเทพฯ มีแผนพาคุณแม่เดินทางท่องเที่ยวลดลงจากปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากวันแม่ในปีนี้ไม่ใช่วันหยุดยาว อาจจะส่งผลให้คนกรุงเทพฯ หันไปประกอบกิจกรรมอื่นๆ ได้มากขึ้น โดยการพาคุณแม่ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เป็นกิจกรรมยอดนิยมอันดับหนึ่งของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 นี้ น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 2,700 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 2.7 จากในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 โดยเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากเม็ดเงินจากการพาคุณแม่ท่องเที่ยวลดลง แต่เม็ดเงินจากการประกอบกิจกรรมอื่นๆ ยังคงขยายตัว จึงส่งผลให้ภาพรวมของเม็ดเงินค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจกรรมต่างๆของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลวันแม่ปีนี้ยังขยายตัวได้
ทั้งนี้ พบว่าเทรนด์ที่น่าสนใจในช่วงเทศกาลวันแม่ในปี 2558 คือ คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มชักชวนคุณแม่ออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น รวมถึงใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ในการพูดคุยและบอกรักคุณแม่
ในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 นี้ ตรงกับวันพุธ และไม่ได้เป็นวันหยุดยาว อาจจะไม่เอื้อต่อการประกอบกิจกรรมบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวปลายทางไกลๆ ร่วมกับคุณแม่ ประกอบกับแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศยังมีความอ่อนไหวจากปัจจัยต่างๆ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อรายได้ กำลังซื้อ และการวางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคบางกลุ่ม แต่ในปี 2558 นี้ คนกรุงเทพฯ ก็ยังให้ความสำคัญกับการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลวันแม่ จึงสะท้อนโอกาสสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่จะสามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นยอดขายอย่างเข้มข้น
คนกรุงเทพฯ พาแม่ท่องเที่ยวลดลง แต่ยังประกอบกิจกรรมอื่นๆ อยู่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 ในลักษณะการสำรวจเชิงคุณภาพ ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2558 จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนกรุงเทพฯ หรือเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาศึกษาหรือทำงานในกรุงเทพฯ จำนวน 407 คน ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพหลัก ช่วงอายุ และระดับรายได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 ทั้งการประกอบกิจกรรมและค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยผลสำรวจประกอบไปด้วยรายละเอียดที่สำคัญดังต่อไปนี้
คนกรุงเทพฯ เกินครึ่งมีแผนประกอบกิจกรรมในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 จากผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 54.5 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีแผนประกอบกิจกรรมในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 โดยกิจกรรมยอดนิยมในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 นี้
คนกรุงเทพฯ เลือกรับประทานอาหารร่วมกับคุณแม่มากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นการมอบพวงมาลัยหรือดอกไม้ให้คุณแม่ การซื้อของขวัญให้คุณแม่ และการพาคุณแม่ท่องเที่ยว ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่น้อยมีการประกอบกิจกรรมร่วมกับคุณแม่มากกว่าหนึ่งกิจกรรม เช่น การรับประทานอาหาร มอบพวงมาลัยหรือดอกไม้ และของขวัญให้คุณแม่ การพาคุณแม่ไปท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้ๆ และระหว่างท่องเที่ยวก็แวะพาคุณแม่ทำบุญไหว้พระ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 45.5 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ไม่มีแผนประกอบกิจกรรมในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 นี้ เนื่องจากหลากหลายเหตุผลแตกต่างกัน เช่น ให้ความสำคัญกับคุณแม่ทุกวันอยู่แล้ว คุณแม่อยู่ต่างจังหวัด ติดงาน ติดธุระ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีแผนประกอบกิจกรรมในช่วงเทศกาลวันแม่และอาศัยอยู่ต่างที่กัน ส่วนใหญ่ตั้งใจจะโทรศัพท์พูดคุยและบอกรักคุณแม่ในช่วงเทศกาลวันแม่แทน
“รับประทานอาหารนอกบ้าน” กิจกรรมยอดฮิตของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลวันแม่ปีนี้ โดยเลือกรับประทานอาหารที่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และคอมมูนิตีมอลล์มากขึ้น จากการสำรวจสะท้อนว่า สัดส่วนการประกอบกิจกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านร่วมกับคุณแม่ การมอบพวงมาลัยหรือดอกไม้ให้คุณแม่ และการซื้อของขวัญให้คุณแม่ ในช่วงเทศกาลวันแม่ในปี 2558 ยังคงเติบโตกว่าในปี 2557 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานอาหารนอกบ้านร่วมกับคุณแม่ ประกอบกับในยุคปัจจุบันทางเลือกในการรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งมีผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารให้บริการอย่างหลากหลาย ทั้งภัตตาคาร ห้องอาหาร สวนอาหาร ตลอดจนร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตีมอลล์ และโรงแรมต่างๆ ล้วนเป็นทางเลือกให้ลูกค้าใช้บริการเพื่อเปลี่ยนรสชาติและบรรยากาศการรับประทานอาหาร รวมถึงได้รับความสะดวกสบายในการรับประทานอาหาร สำหรับการเฉลิมฉลองในเทศกาลต่างๆ
จากผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 78.3 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีแผนรับประทานอาหารร่วมกับคุณแม่ พาคุณแม่ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ในจำนวนนี้ร้อยละ 47.6 เลือกรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร Stand Alone (ภัตตาคาร/ห้องอาหาร/สวนอาหาร) ใกล้เคียงกันกับเลือกรับประทานอาหารที่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และคอมมูนิตีมอลล์ ที่มีร้อยละ 45.2 ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 4.8 เลือกรับประทานอาหารที่ร้านอาหารในโรงแรม และอีกร้อยละ 2.4 ยังไม่ได้ตัดสินใจ
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการรับประทานนอกบ้านในช่วงเทศกาลวันแม่ในปี 2558 นี้ มีความแตกต่างจากปี 2557 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มตัวอย่างเลือกรับประทานอาหารที่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตีมอลล์มากขึ้น ในขณะที่เลือกรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร Stand Alone ลดลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า พฤติกรรมการเลือกร้านอาหารในช่วงเทศกาลวันแม่ที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว เป็นผลมาจากการขยายสาขาของห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตีมอลล์ ซึ่งกำหนดตำแหน่งการแข่งขันในการเป็นจุดศูนย์กลาง หรือ One - Stop Service ในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการร้านอาหาร ที่มีผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารให้บริการอย่างหลากหลาย ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ เลือกรับประทานอาหารที่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตีมอลล์มากขึ้น โดยนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อรับประทานอาหารแล้ว ยังสามารถประกอบกิจกรรมอื่นๆได้ครบภายในห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตีมอลล์ ณ จุดเดียวอีกด้วย
จากการที่กลุ่มตัวอย่างเลือกรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร Stand Alone ในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 ลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในกลุ่ม Stand Alone จำเป็นต้องเตรียมรับมือต่อสถานการณ์ที่ลูกค้าใช้บริการไม่คึกคักเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในกลุ่ม Stand Alone อาจเลือกจัดโปรโมชันเฉพาะในช่วงเทศกาลวันแม่เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เลือกใช้บริการร้านอาหารมากขึ้น รวมถึงชูจุดแข็งด้านพื้นที่ให้บริการซึ่งกว้างขวางกว่าร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มครอบครัวที่จะเข้ามาใช้บริการเป็นกลุ่มใหญ่ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างที่มีแผนรับประทานอาหารร่วมกับคุณแม่และครอบครัวบางส่วนเลือกรับประทานอาหารร่วมกันที่บ้าน ทั้งในรูปแบบการประกอบอาหารเอง และการใช้บริการจัดส่งอาหาร (Delivery) ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลในด้านต่างๆ เช่น ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ความหนาแน่นของลูกค้าที่มาใช้บริการร้านอาหาร การเดินทางไม่สะดวก และการจราจรติดขัด จากผู้คนจำนวนมากที่มีแผนพาคุณแม่ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เป็นต้น
วันแม่ปีนี้ คนกรุงมีแผนพาแม่ท่องเที่ยวลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ใช่วันหยุดยาว
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันแม่ในปี 2558 นี้ มีความแตกต่างจากปี 2557 ที่ผ่านมา โดยสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีแผนพาคุณแม่เดินทางท่องเที่ยวลดลง คิดเป็นร้อยละ 16.2 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีแผนประกอบกิจกรรมในช่วงเทศกาลวันแม่ทั้งหมด (ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 23.5) ซึ่งเป็นผลมาจากวันแม่ในปี 2558 นี้ เป็นวันพุธซึ่งเป็นวันหยุดกลางสัปดาห์ จึงไม่ใช่วันหยุดยาว แตกต่างจากในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันหยุดยาวติดต่อกันสี่วัน
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 83.3 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันแม่ปีนี้ เลือกพาคุณแม่และครอบครัวไปท่องเที่ยวพักผ่อนภายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางแบบเช้าไป-เย็นกลับ และมีแผนทำกิจกรรมระหว่างการเดินทาง เช่น การไหว้พระทำบุญ รับประทานอาหาร จับจ่ายซื้อสินค้าพื้นเมืองในแต่ละท้องถิ่น เป็นต้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีแผนพักค้างคืน โดยมากเลือกปลายทางท่องเที่ยวระยะใกล้ เช่น พัทยา หัวหิน กาญจนบุรี เป็นต้น
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างอีกส่วน คือ ร้อยละ 16.7 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันแม่ปีนี้ มีแผนจะพาคุณแม่ไปท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยปลายทางที่เลือกส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น
คาดเม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงวันแม่ปีนี้ 2,700 ล้านบาท
จากในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 ตรงกับวันพุธ อาจจะไม่เอื้อต่อการท่องเที่ยวปลายทางไกลๆ ซึ่งไม่ได้มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 4 วันเหมือนกับปี 2557 ที่ผ่านมา แต่คนกรุงเทพฯ ก็ยังให้ความสำคัญกับการประกอบกิจกรรมในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 และมีความเต็มใจที่จะใช้จ่ายเนื่องในโอกาสพิเศษนี้อยู่แล้ว โดยคนกรุงเทพฯมีแนวโน้มที่จะเลือกประกอบกิจกรรมอยู่ในกรุงเทพฯมากขึ้น หรือปรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวให้มีความคล้องกับข้อจำกัดด้านระยะเวลา เช่น การพาคุณแม่และครอบครัวเดินทางไปพักผ่อนยังปลายทางท่องเที่ยวระยะใกล้แบบเช้าไป-เย็นกลับ การรับประทานอาหารนอกบ้านร่วมกับคุณแม่ การมอบพวงมาลัยหรือดอกไม้ให้คุณแม่ การซื้อของขวัญให้คุณแม่ เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจกรรมต่างๆของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 นี้ น่าจะอยู่ที่มูลค่า 2,700 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 2.7 จากในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 โดยการขยายตัวของเม็ดเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 นี้ ไม่ได้มีวันหยุดยาวติดต่อกันสี่วันเหมือนกับปีที่ผ่านมา เม็ดเงินจากการพาคุณแม่ท่องเที่ยวจึงลดลง อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินจากการประกอบกิจกรรมอื่นๆ ยังคงขยายตัว จึงส่งผลให้ภาพรวมของเม็ดเงินค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลวันแม่ปีนี้ยังสามารถเติบโตได้ และสะพัดไปสู่ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
จากการรับประทานอาหารนอกบ้านร่วมกับคุณแม่เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากคนกรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านร่วมกับคุณแม่ในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 นี้ คิดเป็น 1,180 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 5.4 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 จึงกล่าวได้ว่า ร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ในช่วงเทศกาลวันแม่ในปีนี้ แม้ว่า ภาวะเศรษฐกิจจะมีทิศทางชะลอตัว แต่ก็จะเห็นได้ว่าคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ไม่ลดงบประมาณในการรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงเทศกาลวันแม่ลง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารต่างแข่งขันเพื่อช่วงชิงลูกค้าในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดโปรโมชั่นเฉพาะในช่วงเทศกาลวันแม่ การจัดเมนูพิเศษให้บริการเฉพาะในช่วงเทศกาลวันแม่ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารก็ควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือในด้านต่างๆควบคู่กันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้บริการสำหรับลูกค้าที่น่าจะกระจุกตัวกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่ขีดความสามารถในการให้บริการของร้านอาหารแต่ละร้านเป็นไปอย่างจำกัด ส่งผลให้ผู้ประกอบการอาจให้บริการลูกค้าได้อย่างไม่ทั่วถึงและสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้อย่างเต็มที่
สำหรับเม็ดเงินค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวภายในประเทศของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า จะมีเม็ดเงินสะพัดมูลค่า 920 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.2 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 นี้ ไม่ได้มีวันหยุดยาวติดต่อกันสี่วันเหมือนกับปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะไม่เอื้อต่อการท่องเที่ยวปลายทางไกลๆ
ในส่วนของการมอบพวงมาลัยหรือดอกไม้ให้คุณแม่นั้น คนกรุงเทพฯ มอบพวงมาลัยหรือดอกไม้ให้คุณแม่ อย่างสอดคล้องกับระดับรายได้ โดยมูลค่าพวงมาลัยหรือดอกไม้คิดเป็นเม็ดเงินสะพัด 470 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 9.3 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 โดยในกลุ่มที่มีรายได้ระดับบนจะมอบพวงมาลัยดอกมะลิพวงใหญ่ซึ่งมีราคาหลักร้อยบาทขึ้นไป ในขณะที่ กลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมาจะมอบพวงมาลัยดอกมะลิขนาดกลางซึ่งมีราคาไม่เกินหนึ่งร้อยบาท
นอกจากนี้ การใช้จ่ายจากคนกรุงเทพฯ สำหรับการซื้อของขวัญให้คุณแม่คิดเป็นเม็ดเงินสะพัด 130 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 8.3 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 โดยกลุ่มที่มีรายได้ระดับบนซื้อของขวัญกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม และเครื่องประดับมูลค่าสูง เช่น เพชร ทอง เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมาจะซื้อของขวัญกลุ่มเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ สามารถใช้โอกาสในช่วงเทศกาลวันแม่จัดโปรโมชันกระตุ้นยอดขายสอดคล้องกับรายได้และพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละกลุ่ม
อย่างไรก็ดี นอกจากการแสดงความรักต่อคุณแม่ในรูปแบบการมอบพวงมาลัย ดอกไม้ และซื้อของขวัญ รวมถึงประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น การรับประทานอาหารร่วมกับคุณแม่ การพาคุณแม่ไปท่องเที่ยว เป็นต้น แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 นี้ คนกรุงเทพฯ ก็ยังมีการแสดงความรักต่อคุณแม่ในรูปแบบการชักชวนคุณแม่ออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรม Bike for Mom “ปั่นเพื่อแม่” การเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน นอกจากการโทรศัพท์พูดคุยและบอกรักคุณแม่ในช่วงเทศกาลวันแม่นี้แล้ว การพัฒนาทั้งในส่วนของอุปกรณ์การสื่อสาร และแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ใช้งานง่าย รวมถึงเครือข่ายสัญญาณการให้บริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้มีความความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และเหมาะสมกับทุกวัย ส่งผลให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้น โดยโซเชียลเน็ตเวิร์กจะเข้ามามีบทบาทในฐานะตัวกลางสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัวเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงเทศกาลวันแม่ปี 2558 นี้ คนกรุงเทพฯ ทั้งกลุ่มที่ในปัจจุบันอาศัยอยู่ร่วมกับคุณแม่ และกลุ่มที่อาศัยอยู่ต่างที่กันมีแนวโน้มใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร (เช่น โปรแกรมแชต วีดิโอคอล เป็นต้น) สำหรับการพูดคุยและบอกรักคุณแม่มากขึ้น