xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.-ส.เพื่อนชุมชนตั้ง 7 เครือข่ายเฝ้าระวัง สวล.เชิงรุกพื้นที่มาบตาพุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กนอ.ผนึกสมาคมเพื่อนชุมชน สร้างเครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเชิงรุกในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ตั้งคณะทำงาน 7 คณะรับผิดชอบตามพื้นที่ครอบคลุม 52 ชุมชน 5 นิคมฯ 1 ท่าเรือ มิติใหม่รวมพลังทุกภาคส่วน รัฐ-เอกชน-ชุมชน ร่วมบูรณาการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในเชิงรุก

นายวิฑูรย์ ทับทิม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กนอ.ได้ร่วมกับสมาคมเพื่อนชุมชนจัด “สัมมนาเครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเชิงรุกในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์” เพื่อยกระดับการดูแลและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างรัฐ สถานประกอบการเอกชน และชุมชน ที่จะเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยให้กับทั้งโรงงานและชุมชนรอบนิคมฯ รวมทั้งลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชนและชุมชน พนักงานในสถานประกอบการโดยรอบที่อยู่ในพื้นที่

“ระบบการทำงานนั้นจะสนับสนุนให้ชุมชนสามารถแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยมีเอกชนที่เป็นกลุ่มสมาคมเพื่อนชุมชนเป็นฝ่ายประสานงาน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นระหว่างโรงงานกับชุมชน รวมทั้งเครื่องมือที่ติดตั้งของศูนย์ EMCC หรือศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของ กนอ. จะสามารถกระจายข่าวได้อย่างทั่วถึง ทำให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพสูงสุด” นายวิฑูรย์กล่าว

นายบุญเชิด สุวรรณทิพย์ ผู้บริหารสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าวว่า ขณะนี้มีการตั้งคณะทำงานประจำพื้นที่เครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเชิงรุก 7 คณะ ซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานประจำพื้นที่ ได้แก่ 1. นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล 2. นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทิศตะวันออก 3. นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและเขตท่าเรือ 4. นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ทิศเหนือ 5. นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ทิศตะวันตก 6. นิคมอุตสาหกรรมผาแดง 7. นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย

สำหรับพื้นที่การดำเนินการของ 7 คณะทำงานจะครอบคลุมพื้นที่ชุมชน 52 ชุมชน โดยแบ่งเป็น 38 ชุมชนมาบตาพุด และ 14 เทศบาลตำบลบ้านฉาง และครอบคลุมพื้นที่ 5 นิคม และอีก 1 ท่าเรือ ทำให้การเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในด้านการบริหารจัดการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีพื้นที่ชัดเจน และสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาหรือแจ้งเตือนชุมชนได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด เพื่อลดการสูญเสียและผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและทรัพย์สิน

ทั้งนี้ แนวทางในการปฏิบัติการของ “เครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเชิงรุก” จะทำหน้าที่ช่วยเหลือและสนับสนุน กนอ.ในกรณีที่เกิดเหตุหรือพบเห็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติทางด้านสิ่งแวดล้อม ให้ชุมชนแจ้งไปยังหัวหน้าคณะที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ ซึ่งคณะทำงานจะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ ร่วมกันตรวจสอบ เฝ้าระวัง และควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือ EMCC ของ กนอ. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ กนอ.ลงมาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง นับเป็นการกระจายข่าวเชิงรุกอย่างรวดเร็ว ลดกระแสข่าวลือที่สร้างความสับสนของข้อมูล เพื่อสร้างความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชนเชื่อมั่นในมาตรการที่จะช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
กำลังโหลดความคิดเห็น