xs
xsm
sm
md
lg

บูมสนามบินอู่ตะเภา เร่งแผนธุรกิจเจาะทัวร์จีน, รัสเซีย-เล็งเพิ่มศูนย์ซ่อมฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม
“คมนาคม” หารือกองทัพเรือ, AOC, หอการค้าระยอง, ททท.วางแผนธุรกิจและการตลาด ดันสนามบินอู่ตะเภาเป็น “Smart Airport” หรือ “Digital Airport” เตรียมเจรจากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวจีนและรัสเซีย ดึงตลาดใหญ่ใช้บริการ แบ่งพัฒนา 3 ระยะ “ผู้โดยสาร/สินค้า/ศูนย์ซ่อม” กองทัพเรือเตรียมลงทุนอีกกว่าพันล้าน

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในการพัฒนาอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินพาณิชย์เต็มรูปแบบแห่งที่ 3 ของประเทศ และเปิดให้บริการในวันที่ 1 มิ.ย. 2559 ว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมกับภายนอกท่าอากาศยานอู่ตะเภา และคณะกรรมการวางแผนธุรกิจส่งเสริมกิจการของท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยในส่วนของการวางแผนธุรกิจนั้นทุกส่วนที่เกี่ยวข้องพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทั้ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจการบิน (AOC) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หอการค้าจังหวัดระยอง ฯลฯ โดยได้เสนอให้มีการจัดเส้นทางการบินเพื่อเปิดเส้นทางบินใหม่ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีศักยภาพ เช่น จีน อินเดีย พร้อมทั้งเจรจากับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวจีนเพื่อให้มาใช้บริการเพิ่มเติม และเจรจากลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศให้ใช้เป็นสนามบินสำหรับฝึกนักบิน, เจรจากับบริษัท Nordwind ของรัสเซียเพื่อทำการตลาดดึงนักท่องเที่ยวจากรัสเซียกลับมาหลังจากที่ลดจำนวนลงกว่า 50% เนื่องจากรัสเซียมีปัญหาเศรษฐกิจ, เพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจให้แก่สายการบิน เช่น โปรโมชันลดค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินนอกฤดูท่องเที่ยว โดยปัจจุบันปรับลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ลง 50% เป็นเวลา 1 ปีแล้ว

ทั้งนี้ ทาง AOC ได้เสนอแนวคิดในการพัฒนาและดำเนินงานสนามบินอู่ตะภาว่า ควรมีเอกลักษณ์หรือจุดเด่นเพื่อสร้างแรงจูงใจในด้านการตลาด เช่นเป็น “Smart Airport” หรือ “Digital Airport” ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรอบนอกและภายในสนามบิน และระบบการให้บริการต่างๆ ต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับแนวคิดนี้ด้วย โดยต้องมีความสวยงาม สะดวก รวดเร็ว และทันสมัย

พร้อมกันนี้ ในการพัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์เต็มรูปแบบแห่งที่ 3 จะแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2559 จะเน้นการให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มจากปัจจุบัน 1.2-1.4 แสนคนต่อปี เป็น 1 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2560 และเพิ่มเป็น 5 ล้านคนต่อปีภายในอีก 3 ปีต่อไป ระยะที่ 2 จะพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้า ซึ่งทางกองทัพเรือจะมีการลงทุนก่อสร้างอาคารคลังสินค้าจำนวน 2 หลัง วงเงินประมาณ 120 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2560 และระยะที่ 3 (ระยะยาว) พัฒนาเรื่องศูนย์ซ่อมอุตสาหกรรมการบินต่างๆ

ส่วนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมนั้น กรมทางหลวง (ทล.) มีแผนพัฒนาโครงข่ายถนนรอบนอกเพื่อเชื่อมการเดินทางเข้าสู่สนามบิน 12 โครงการ และพัฒนาถนนภายในสนามบินอีก 1 โครงการ ส่วนบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) จะทำแผนพัฒนาเส้นทางขึ้นลง เข้าออก สนามบิน และจัดห้วงอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการระหว่างสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ขณะที่การท่าอากาศยานอู่ตะเภามีแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก ประมาณ 28 รายการ วงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท

ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดทำแผนปรับปรุงเส้นทางรถไฟและก่อสร้างสถานีเพิ่มคือสถานีอู่ตะเภา วงเงินประมาณ 250 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 20 เดือน โดยจะหารือกับกองทัพเรือเพื่อขอใช้พื้นที่ประมาณ 40 ไร่ในการก่อสร้างสถานีอู่ตะเภา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปลายปี 2559 และในช่วงแรก ร.ฟ.ท.จะปรับปรุงสถานีบ้านพลูตาหลวง โดยจะมีการจัด Shuttle Bus ให้บริการเชื่อมไปยังสนามบินก่อน

อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดเพื่อสรุปรายละเอียดแผนปฏิบัติการอีกครั้ง และคาดว่าจะสรุปเสนอ ครม.พิจารณาได้ภายในเดือน ก.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น