กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งขับเคลื่อน “โครงการเงินอุดหนุนเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน” ปีที่ 2 หวังกระตุ้น 150 ชุมชนท่องเที่ยวให้เติบโตและพัฒนาทั้งในด้านสินค้า การบริการ สถานที่ท่องเที่ยว ตลอดจนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เชื่อมั่นพลังชุมชนจะนำไปสู่การท่องเที่ยวที่เข้มแข็งและยั่งยืน
นางสาววรรณสิริ โมรากุล รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กรมการท่องเที่ยว เร่งเดินหน้า “โครงการเงินอุดหนุนเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน” ปีที่ 2 หลังจากที่โครงการในปีแรกประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย โดยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมการท่องเที่ยวและตัวแทนชุมชนทั่วประเทศเพื่อรับเงินอุดหนุนชุมชนในวงเงินรวม 8.2 ล้านบาท โดยมีชุมชนที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาเข้ารับเงินอุดหนุน จำนวน 150 ชุมชนซึ่งแต่ละชุมชนจะได้รับเงินอุดหนุนตั้งแต่ 5 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท ตามแต่ละลักษณะและขนาดของโครงการที่เสนอมานั้น
กรมการท่องเที่ยว เล็งเห็นว่าชุมชนเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวและควรเป็นผู้กำหนดแนวทางการพัฒนาเพราะคนในชุมชนจะรู้ดีที่สุดว่าตนเองต้องการอะไร จะเห็นได้ว่าแหล่งท่องเที่ยวที่บริหารจัดการโดยคณะกรรมการชุมชนที่เข้มแข็งจะสามารถพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวที่น่าประทับใจและตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยว สามารถดึงอัตลักษณ์และวิถีชุมชนมาเป็นจุดขายได้อย่างน่าสนใจ
จากการศึกษาข้อมูลพบว่าชุมชนที่ดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวต้องการได้รับการสนับสนุนอย่างรอบด้าน ทั้งการปรับปรุงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การประชาสัมพันธ์และแผนการตลาดซึ่งทุกโครงการจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ กรมการท่องเที่ยวจึงได้ริเริ่มโครงการเงินอุดหนุนเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนขึ้นในงบประมาณ 2557 ซึ่งปรากฏว่าโครงการนี้ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่สองในปีงบประมาณ 2558 โดยมีชุมชนจากทั่วประเทศยื่นขอรับเงินอุดหนุนทั้งสิ้น 400 ชุมชน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณจึงสามารถพิจารณาให้เงินอุดหนุนได้เพียง 150 ชุมชน
“สำหรับชุมชนที่ขอรับเงินอุดหนุนฯ จะต้องมีสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า 10 คน และร่วมกันดำเนินการด้านการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยต้องจัดทำแผนงานโครงการว่าจะนำเงินไปใช้ทำอะไร จำนวนเท่าใด เกิดประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวต่อชุมชนอย่างไร อาทิ การพัฒนาศักยภาพภายในชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณี วิถีชุมชน การปรับปรุงอาคารสถานที่ ศูนย์เรียนรู้ การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ อย่างไรก็ดีโครงการจะต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี และหลังจากเสร็จสิ้นโครงการฯ ชุมชนจะต้องจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานเสนอต่อกรมการท่องเที่ยวด้วย” นางสาววรรณสิริ กล่าวในตอนท้าย
ด้าน นางวาด ยาเย็น ประธานกลุ่มจักสานผักตบชวา ตำบลสันป่าตอง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา กล่าวว่า กลุ่มจักสานผักตบชวาได้เข้าร่วมโครงการเงินอุดหนุนเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยในปีที่ผ่านมาทางกลุ่มได้นำเงินไปใช้ในการปรับปรุงโรงเรือนและจัดซื้ออุปกรณ์ในการย้อมสีซึ่งช่วยให้ทางกลุ่มสามารถพัฒนาการผลิตได้ดียิ่งขึ้น โดยปัจจุบันนอกจากทางกลุ่มจะผลิตกระเป๋าและเฟอร์นิเจอร์จากผักตบชวาแล้ว ยังพัฒนาการผลิตโดยนำเส้นใยผักตบชวาไปผสมกับฝ้ายเพื่อทำผ้าทอและตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าอีกด้วย
นางสุรัตนา ภูมิมาโนช ประธานกลุ่มท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด กล่าวว่า การได้รับเงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวนั้นถือเป็นประโยชน์ต่อชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวเป็นอย่างมาก เพราะการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งของชุมชน ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวและพักค้างที่ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว เฉลี่ยเดือนละ 900 คน ทำรายได้ให้ชุมชนเดือนละ 5-8 แสนบาท เมื่อสามารถทำมาหากินที่บ้านเกิดได้ชาวบ้านก็ไม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น เงินอุดหนุนที่ได้มาจึงไม่ใช่เพียงแค่การสร้างอาชีพแต่ยังเป็นการสร้างความสุขที่ยั่งยืนอีกด้วย