“เครื่องจักสาน” เป็นอีกหนึ่งงานศิลปหัตถกรรมที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำวัสดุจากธรรมชาติมาประดิษฐ์จนเป็นชิ้นงาน และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการพัฒนามาเป็นเครื่องใช้นานาชนิด และมีรูปทรงที่สวยงาม จนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในการซื้อหาเพื่อนำไปใช้หรือเป็นของฝากขึ้นชื่อ
ในครั้งนี้จะขอพาไปทำความรู้จักผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานขึ้นชื่อของสามจังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ เครื่องจักสานกระจูด เสื่อกกจันทบูร และงอบใบจากน้ำเชี่ยว ซึ่งขั้นตอนในการผลิตยังเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และวัตถุดิบที่ใช้ยังหาได้จากธรรมชาติในละแวกชุมชน โดยผลิตภัณฑ์ทั้งสามนั้นได้รับการส่งเสริมจาก กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ให้เป็นสินค้าโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว
เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักกับเครื่องจักสานชิ้นแรก คือ “เครื่องจักสานจากกระจูด” สินค้าโอทอปของบ้านมาบเหลาชะโอน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยเป็นเครื่องจักสานที่มีการสืบทอดภูมิปัญญาในการสานมาอย่างยาวนาน
คุณจำลอง กระแสสินธุ์ สมาชิกกลุ่มจักสานกระจูดบ้านมาบเหลาชะโอน เล่าให้ฟังถึงประวัติการสานกระจูดว่า “ละแวกหมู่บ้านมีบึงสาธารณะขนาดใหญ่ชื่อว่า บึงสำนักใหญ่ ซึ่งมีต้นกระจูดขึ้นอยู่มากมาย เมื่อสมัยอยุธยา ผู้คนในชุมชนใช้กระจูดในการนำมาทำเครื่องจักสานเป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำตาล ส่งไปเป็นบรรณาการ จนกระทั่งปัจจุบันมีการสืบทอดภูมิปัญญาการทำเครื่องจักสานด้วยกระจูด จากรุ่นสู่รุ่น นับรวมแล้วเป็นเวลา 200 กว่าปี ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาภูมิปัญญาการสานกระจูด เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า ตะกร้า หรือกล่อง ออกจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้ตนเองและครอบครัว”
วิธีการทำเครื่องจักสานจากกระจูดนั้น มีขั้นตอนดังนี้ เริ่มจากเลือกต้นกระจูดที่มีลักษณะสมบูรณ์ มีความสูงอย่างน้อย 1 เมตรนำมาตัดให้เท่ากัน จากนั้นนำดินมาคลุก ซึ่งดินจะมีคุณสมบัติทำให้เส้นกระจูดมีความนิ่้มและเหนียวมากขึ้น นำไปตากแดดเป็นเวลา 2 วัน เพื่อให้เส้นกระจูดแห้งและป้องกันเชื้อรา หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนรีดเส้นกระจูดให้แบน ด้วยการนำกระจูดมามัดรวมกันแล้วนำไปทุบด้วยไม้ ในขั้นตอนนี้จะทำให้เส้นกระจูดแบนและนิ่ม เสร็จแล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาดเพื่อนำไปสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือจะนำไปย้อมสีก่อนนำมาสาน เพื่อเพิ่มสีสันให้แก่ผลิตภัณฑ์
สมาชิกกลุ่มจักสานกระจูดบ้านมาบเหลาชะโอน ยังบอกเคล็ดลับในการเก็บรักษาเครื่องจักสานจากกระจูดง่ายๆ คือ ไม่ควรเก็บในที่เปียกชื้น หากโดนน้ำก็นำไปผึ่งให้แห้ง ก็จะสามารถใช้งานได้ยาวนานถึง 10 ปี นับเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานที่คุ้มค่าคุ้มราคา
เครื่องจักสานชิ้นถัดมาที่จะไปทำความรู้จักกันคือ “เสื่อกกจันทบูร” เครื่องจักสานขึ้นชื่อของบ้านท่าแฉลบ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยคุณประเทียบ ทรัพย์ประเสริฐ สมาชิกศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านการทอเสื่อจันทบูร เป็นผู้เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาและวิธีการทอเสื่อว่า การทอเสื่อมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งชาวจันทบุรีรู้จักการทอเสื่อมาไม่ต่ำกว่า 120 ปี
ขั้นตอนในการทำเสื่อนั้น เริ่มต้นด้วยการเก็บต้นกก โดยจะใช้ต้นที่มีอายุประมาณ 3 เดือน และจะเลือกจากกกที่มีลำต้นค่อนข้างอ่อน จากนั้นนำกกมาผ่าเป็นซีกเล็กๆ 3-4 ซีกต่อต้น ซึ่งชาวบ้านเรียกขั้นตอนนี้ว่า “การจักกก” แล้วนำกกที่ได้ไปผึ่งลมให้แห้งสนิท แล้วนำไปตากแดดประมาณ 3 วัน จากนั้นนำกกไปแช่น้ำให้พองและนิ่ม หลังจากนั้นนำไปย้อมสีและนำไปผึ่งให้แห้ง เสร็จแล้วนำกกที่ได้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เสื่อ จานรองแก้ว กระเป๋าเงิน กล่องใส่กระดาษ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกกแต่ละชิ้นนั้น มีความคงทนแข็งแรง สามารถใช้งานได้เกือบ 10 ปี เพราะกกมีความเหนียวโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
เครื่องจักสานชิ้นสุดท้ายที่จะไปทำความรู้จักกันนั่นคือ “งอบใบจากน้ำเชี่ยว” ผลิตภัณฑ์จักสานอันขึ้นชื่อของบ้านน้ำเชี่ยว อำเภอเมือง จังหวัดตราด งอบใบจากน้ำเชี่ยวเป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่เป็นเอกลักษณ์อันเกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับขั้นตอนในการสานงอบใบจากนั้น คุณจัน กัณธิโกวิท สมาชิกกลุ่มจักสานงอบใบจากบ้านน้ำเชี่ยว อธิบายให้ฟังว่า “ใช้ใบจากเป็นวัสดุหลักที่นำมาใช้สาน โดยหาได้ไม่ยากเพราะละแวกชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวนั้นมีป่าชายเลนที่มีต้นจากขึ้นอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ โดยจะเก็บใบจากที่ไม่อ่อนและไม่แก่จนเกินไป นำมาตัดหัวและท้ายให้เท่ากัน และจะใช้ใบจากจำนวน 36 ใบในการนำมาสานทำงอบ 1 ใบ ซึ่งจะต้องมีการปิดซ้อนใบตามรูปทรงงอบที่ต้องการ โดยจะมีทรงงอบอยู่ 5 ทรง ได้แก่ทรงกระทะคว่ำ, ทรงกระดองเต่า, ทรงยอดแหลม, ทรงสมเด็จ และทรงกะโหลก โดยทรงกระทะคว่ำเป็นลักษณะดั้งเดิมของบ้านน้ำเชี่ยวที่มีมานาน จากนั้นก็จะนำด้ายมาเย็บให้แน่น เสร็จแล้วใส่ “เสวียน” หรือไม้ไผ่สานสำหรับครอบหัว แล้วนำไปตากแดด 3 วัน หลังจากนั้นก็จะนำมาทาเคลือบด้วยน้ำมันวานิช ก็จะได้งอบใบจากที่มีความทนทาน น้ำหนักเบา กันได้ทั้งฝน ทั้งแดด แล้วก็ใช้ตักน้ำได้อีกด้วย” จึงนับได้ว่างอบใบจากน้ำเชี่ยว เป็นภูมิปัญญาที่นำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมาก
จะเห็นได้ว่าภูมิปัญญาในการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานของประเทศไทยนั้นไม่แพ้ชาติใดในโลก อีกทั้งผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นยังคงทนแข็งแรง สามารถนำไปใช้งานได้จริง หากใครสนใจแล้วก็อย่าลืมที่จะอุดหนุนสินค้าโอทอปทั้งสามชนิด เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของไทย เเละกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
จักสานบ้านกวี เครื่องจักสานจากกระจูด โทร.0-3864-7079
กลุ่มสตรีทอเสื่อกกเขาน้อยท่าแฉลบ โทร.0-3939-1208
สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว เทศบาลบ้านน้ำเชี่ยว โทร.0-3953-2959
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com