xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” จัดเชื่อมโยงค้าส่งค้าปลีก เพื่อนบ้านหอบเงินแห่ชอปสินค้าไทยไปขาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” จัดโครงการเชื่อมโยงค้าส่งค้าปลีกสร้างความสัมพันธ์ผู้ประกอบการไทยกับเพื่อนบ้าน เผยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีการสั่งซื้อสินค้าไทยไปขายเพียบ พร้อมลงพื้นที่สำรวจการค้าขายตามแนวชายแดน พบสินค้าที่ขายส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย เตรียมจัดเชื่อมโยงต่อ หวังดัน SMEs ไทยใช้ประโยชน์จาก AEC

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายผู้ผลิต ค้าส่งค้าปลีกและตลาด CLM (กัมพูชา ลาว และพม่า) โดยได้เชิญผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาดูงานด้านการค้าส่งค้าปลีกในไทย และจัดให้มีการเจรจาธุรกิจ เพื่อสร้างเครือข่ายและโอกาสทางธุรกิจให้แก่ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและผู้ผลิตขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ของไทยกับผู้ประกอบการจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประสบความสำเร็จ โดยผู้ประกอบการไทยและ CLM ได้มีการตกลงซื้อขายสินค้าระหว่างกันเป็นจำนวนมาก

“ได้เชิญผู้ประกอบการจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาดูงาน และดูรูปแบบการพัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกของไทย และจัดคณะผู้ประกอบการของไทยไปดูงานค้าส่งค้าปลีกในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความคุ้นเคย และสร้างสัมพันธ์ที่ดีในการทำธุรกิจระหว่างกัน และยังได้ใช้โอกาสนี้ในการเปิดเวทีให้มีการเจรจาธุรกิจกับผู้ผลิต SMEs ของไทย ซึ่งปรากฏว่ามีการตกลงซื้อสินค้าจากไทยไปขายในร้านค้าส่งค้าปลีกในประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นจำนวนมาก”

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าส่งค้าปลีกของประเทศเพื่อนบ้านได้ให้การยอมรับสินค้าไทยเป็นสินค้าที่ดี มีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของลูกค้าในประเทศ และพร้อมที่จะสั่งซื้อสินค้าไทยไปจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้เป็นผู้ผลิต SMEs ที่ผลิตสินค้าต่างๆ จำนวน 35 กิจการ ร้านค้าส่งค้าปลีกของไทย 26 กิจการ และผู้ประกอบการจาก CLM 11 กิจการ ซึ่งในส่วนของกัมพูชามาจากเมืองบันเตียเมียนเจย และสีหนุวิลล์ ลาวจากกรุงเวียงจันทน์ และพม่า จากเมืองมะริด

ส่วนผลการจับคู่เจรจาธุรกิจที่เกิดขึ้น ร้าน Grand Mart เมืองบันเตียเมียนเจย และห้างเอกภาพ ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จังหวัดปราจีนบุรี ได้ตกลงซื้อสินค้าครั้งแรก 1.7 แสนบาท และจะซื้อเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ร้าน Lim Bou Shop เมืองบันเตียเมียนเจยกับร้านปราณีนพรัตน์ จังหวัดสระแก้ว ได้ตกลงซื้อนมถั่วเหลือง UHT จำนวน 500 ลัง, ร้าน Plus Daily Mart กรุงเวียงจันทน์ ได้สั่งซื้อกะปิ จากบริษัท ส.สรรพกิจ ค้าส่ง จำกัด กรุงเทพฯ รอบแรก 400 ลัง และสั่งซื้อสินค้ากับร้าน เจ.มาร์ท ซุปเปอร์สโตร์ จังหวัดหนองบัวลำภู กว่า 5 แสนบาทต่อเดือนในระยะเริ่มต้น, ร้าน Grand Jade Shop สนใจระบบทำความเย็น จากห้างบิ๊กซ้ง ซุปเปอร์มาร์เก็ต จังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงผู้ประกอบการในเมืองมะริดหลายรายอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อสินค้าจากร้านก้ายช้วน จังหวัดระนอง

น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า กรมฯ ยังได้นำคณะออกสำรวจการค้าส่งค้าปลีกในประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 ประเทศ โดยที่ลาวสำรวจตลาดที่เมืองเวียงจันทน์ พบว่าร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย และร้านค้าส่งก็มีการนำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าไทยหลายรายการ ที่พม่าสำรวจตลาดที่เมืองมะริด สินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย และหลายร้านยังเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าไทย ขณะที่กัมพูชา สินค้าส่วนใหญ่นำเข้าจากไทยเช่นเดียวกัน

“แสดงให้เห็นว่าสินค้าไทยเป็นที่ต้องการ และเป็นที่ยอมรับในตลาดเพื่อนบ้าน ซึ่งกรมฯ จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อทำการเชื่อมโยงร้านค้าส่งค้าปลีกของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในเมืองที่ติดชายแดนต่อไป เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยในการเปิดตลาดการค้าไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้น” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น