สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และยูนิลีเวอร์ จับมือถกปัญหาบรรจุภัณฑ์ใหญ่เกินความจำเป็น เตรียมออกมาตรการควบคุมเทียบชั้นประเทศพัฒนาแล้ว ยกระดับคุ้มครองผู้บริโภค ด้านยูนิลีเวอร์ขานรับแนวทาง “ลดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์” ชี้ปลดล็อกวิกฤตขยะบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ผู้ผลิต ตอบโจทย์ความยั่งยืนผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
สืบเนื่องจากปัญหาบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบได้ในหลายผลิตภัณฑ์ ทั้งในสินค้าอุปโภคและบริโภค เพื่อหาทางออกจากปัญหาดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ประเทศไทย จึงจัดเวทีเสวนาระดมสมองเรื่อง “ลดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์ : มิติใหม่การคุ้มครองผู้บริโภคและทางออกการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” ซึ่งการเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมรายงานความคืบหน้าแผนการดำเนินชีวิตของยูนิลีเวอร์ ณ ห้องบอลรูม 2 โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทิจ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา
นายอำพล วงค์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดไม่เหมาะสมในประเทศไทยถือเป็นปัญหาสำคัญที่ได้รับการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาพบว่ามีมากในกลุ่มสินค้าอาหาร เช่น ขนมขบเคี้ยว รวมไปถึงสินค้าอุปโภค เช่น ยาสระผม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ โดยบรรจุภัณฑ์มีพื้นที่ว่างเฉลี่ยตั้งแต่ 15-35% ถึงแม้ว่าผู้ผลิตจะระบุน้ำหนักหรือปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่ข้างบรรจุภัณฑ์ก็ตาม
เพื่อเป็นการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ.จึงเตรียมจะออกมาตรการควบคุมพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์ โดยงานเสวนาที่จัดขึ้นครั้งนี้ก็ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ ฯลฯ ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป
“ปัจจุบันหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคดานา ได้มีการออกกฎหมาย ข้อบังคับควบคุมบรรจุภัณฑ์ที่รวมถึงการกำหนดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งหากประเทศไทยทำได้ถือเป็นเรื่องดีกับทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภคไม่เกิดความสับสนในเรื่องขนาดกับปริมาณ อีกทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ช่วยลดปริมาณขยะ ทางออกของการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายอำพลกล่าว
ด้านนางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลก เราตระหนักอย่างยิ่งถึงหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนที่เราเป็นสมาชิก ยูนิลีเวอร์ได้ประกาศ 'แผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน' ตั้งแต่ปี 2553 และนำมาเป็นรูปแบบใหม่ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งประกาศวิสัยทัศน์ของบริษัทที่จะเติบโตเป็นสองเท่าในขณะที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมายูนิลีเวอร์ตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนและผลการดำเนินการก็เป็นไปตามเป้าหมาย แต่เรารู้ดีว่าการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นต้องมองไกลไปกว่าความสำเร็จภายในระดับปฏิบัติการในองค์กร แต่เราต้องร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และบริษัทอื่นๆ เพื่อสร้างพันธมิตรที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ และบางปัญหานั้นทำคนเดียวไม่ได้ เราจึงสนับสนุนแนวคิดของ สคบ.ในการผลักดันการลดพื้นที่บรรจุภัณฑ์ เพราะนอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและลดขยะบรรจุภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิผลแล้ว เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของเราอีกด้วย
“ยูนิลีเวอร์ยินดีสนับสนุน สคบ.ในการออกมาตรการควบคุมพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์ เพราะเราให้ความสำคัญเรื่องขยะบรรจุภัณฑ์อย่างมากเนื่องจากมีมากถึง 50% ของขยะที่เราผลิตได้ โดยที่ผ่านมาได้คิดค้นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์หลายอย่างที่ลดการใช้ทรัพยากร แต่ยังคงประสิทธิภาพการใช้งาน เช่น นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ลดความหนาของกระดาษ นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ลดการใช้พลาสติก เป็นต้น และเราเชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยนำไปสู่การแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนและเป็นระบบ เมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกันก็สามารถส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมออกไปในวงกว้าง” นางสุพัตรากล่าว
ด้านนางสาวสาวิตรี ศรีสุข ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างสะสมทั่วประเทศ 14.8 ล้านตัน ซึ่งปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะขยะบรรจุภัณฑ์ที่ถือว่ามีสัดส่วนมากเมื่อเทียบกับปริมาณขยะทั้งหมด การหารือกันเรื่องลดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์หรือลดขนาดบรรจุภัณฑ์จึงเป็นแนวทางของการแก้ปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ตามแนวทางการจัดการขยะ (Roadmap) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพบูรณาการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในงานเสวนา “ลดพื้นที่ว่างบรรจุภัณฑ์ : มิติใหม่การคุ้มครองผู้บริโภคและทางออกการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” ที่จัดขึ้นได้รับความสนใจและมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมเสวนาและแสดงความคิดเห็น เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ฯลฯ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างพันธมิตรอย่างยั่งยืนและเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เกินจริงในประเทศไทย