ปตท.เบรกแผนขยายปั๊มแอลพีจีในภาคขนส่งหลังรัฐไม่ส่งเสริมการใช้ แถมจ่อคิวขึ้นภาษีสรรพสามิต ส่งผลให้ยอดใช้แอลพีจีในภาคขนส่งโตติดลบต่อเนื่องมาตลอด 5 เดือน เตรียมเปิดปั๊มรูปแบบใหม่ City Model ต้นปีหน้า เป็นปั๊มขนาดกะทัดรัด 1-2 ไร่ เหมาะตั้งในเมืองใหญ่ ใช้เงินลงทุน 20-25 ล้านบาท/ปั๊ม
นายชวลิต พันธ์ทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ตัดสินใจชะลอการขยายสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ในภาคขนส่งภายใต้แบรนด์ ปตท. หลังจากรัฐส่งสัญญาณไม่ส่งเสริมการใช้แอลพีจีภาคขนส่ง โดยจะปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตแอลพีจีขนส่งให้ใกล้เคียงน้ำมันในอนาคต จากเดิมที่จะมีแผนขยายปั๊มแอลพีจีในภาคขนส่งรวม 250 ปั๊มภายใน 2-3 ปี จากปัจจุบันมีปั๊มแอลพีจีอยู่ 120-130 แห่งทั่วประเทศ
ซึ่งแผนการขยายปั๊มแอลพีจี ปตท.นั้นเพื่อให้สอดคล้องกับโรงบรรจุก๊าซแอลพีจีที่มีอยู่ 170 แห่งทั่วประเทศ แต่เมื่อรัฐส่งสัญญาณไม่ส่งเสริมการใช้แอลพีจีในภาคขนส่ง รวมทั้งมีการลอยตัวราคาแอลพีจีขนส่งเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ยอดขายแอลพีจีในภาคขนส่งในช่วง 5-6 เดือนแรกปีนี้ก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวลงตามราคาน้ำมันโลกด้วย
ในเดือน พ.ค. 2558 ยอดการใช้แอลพีจีภาคขนส่งอยู่ที่ 4.87 ล้านกิโลกรัม/วัน ลดลง 11.3% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดการใช้แอลพีจีภาคขนส่งอยู่ที่ 5.5 ล้านกิโลกรัม/วัน ลดลง 5 เดือนติดต่อกัน
จากภาวะราคาน้ำมันที่ผันผวนนี้ ทำให้ ปตท.ต้องมีการบริหารสต๊อกน้ำมันให้อยู่ในระดับต่ำสุดและเหมาะสม เพื่อลดปัญหาการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน จากปีก่อนที่บันทึกขาดทุนสต๊อกน้ำมันถึง 4 พันล้านบาท โดยปัจจุบันมีการสำรองน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4%สูงกว่าเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันแกว่งตัวอยู่ระดับ 53-58 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายบุรณิน รัตนสมบัติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 5 เดือนแรกปีนี้ยอดการใช้น้ำมันเบนซินโตขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง รวมทั้งผู้ใช้รถหันไปใช้น้ำมันเบนซินแทนการใช้แอลพีจีที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ยอดการใช้แอลพีจีในภาคขนส่งโตลดลง ขณะที่ยอดการใช้น้ำมันดีเซลโตขึ้นเพียง 1-2% ตามการโตของจีดีพีในประเทศ คาดว่าในปีหน้ายอดการใช้เบนซินจะโตตามปกติ 3-5%
ส่วนค่าการตลาดน้ำมันในปีนี้อยู่ที่ 1.50 บาท/ลิตร ลดลงจากปีก่อนที่เฉลี่ย 1.60 บาท/ลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ ปตท.หันมารุกตลาดค้าปลีกที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non oil) เพื่อเพิ่มรายได้ชดเชยธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน โดยมีเป้าหมายภายใน 5 ปีข้างหน้ากำไรจากธุรกิจ Non Oil จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของกำไรธุรกิจน้ำมัน จากปัจจุบันมีกำไรเพียง 20-30% ของธุรกิจน้ำมันเท่านั้น โดยจะมีแผนขยายธุรกิจ Non oil ไปต่างประเทศทั้งร้านคาเฟ่ อเมซอน และร้านเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง Fitstation โดยเบื้องต้นจะมีการขายแฟรนไชส์ร้านคาเฟ่ อเมซอนในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง เป็นต้น
ทั้งนี้ ปตท.มีแผนลงทุนธุรกิจค้าปลีกและขยายปั๊มน้ำมันเฉลี่ยปีละ 1,500-2,000 ล้านบาท โดยจะเพิ่มปั๊มน้ำมันปีละ 30-40 ปั๊ม ซึ่งการขยายปั๊มน้ำมันจะพิจารณาเป็นรายตัวขึ้นกับทำเลที่ตั้งและผลตอบแทนเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การสร้างปั๊มน้ำมันในตัวเมืองทำได้ยาก เนื่องจากติดปัญหาพื้นที่หายากและมีราคาแพง ดังนั้น ปตท.จึงมีแผนพัฒนาปั๊มน้ำมันในรูปแบบใหม่ City Model ให้เป็นปั๊มน้ำมันขนาดกะทัดรัด ใช้พื้นที่เพียง 1-2 ไร่ โดยมีร้านสะดวกซื้อ 7-11 และร้านกาแฟอเมซอน ใช้เงินลงทุน 20-25 ล้านบาท/แห่ง (ไม่รวมที่ดิน) รองรับลูกค้าที่ไม่ใช่แค่ผู้ใช้รถเท่านั้น คาดว่าในต้นปีหน้าจะเปิดปั๊มนำร่องแห่งแรกที่ถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นปั๊ม ปตท.เดิมแต่รีโนเวตใหม่ หากได้รับการต้อนรับที่ดีก็จะขยายไปยังหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ
วันนี้ (21 ก.ค.) พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูต รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และนายชวลิต พันธ์ทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ Crime Zero “กดปุ่มฉับไว ปลอดภัยในปั๊ม ปตท.” เพื่อป้องปรามคนร้ายลดโอกาสในการเกิดอาชญากรรมให้เหลือน้อยที่สุดหรือเท่ากับศูนย์ โดยจะนำร่องติดตั้งระบบปุ่มกดแจ้งเหตุฉุกเฉินและสัญญาณไฟไซเรนที่เชื่อมกล้องวงจรปิดไปยังสถานีตำรวจและโทรศัพท์มือถือเจ้าหน้าที่ตำรวจในปั๊มน้ำมัน ปตท.จำนวน 9 แห่ง ก่อนที่จะขยายเพิ่มในอนาคต