กรมทางหลวงชนบทเตรียมประกาศลดน้ำหนักบรรทุกบนถนนคันคลองชลประทาน 56 สายทั่วประเทศในปลาย ก.ค.นี้ พร้อมชงแปรญัตติงบปี 59 จำนวน 850 ล้านบาท เร่งซ่อมถนนทรุด และสำรวจวิเคราะห์ถนนเสี่ยงทั่วประเทศ
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยภายหลังประชุมการมีส่วนร่วมภาคประชาชนการแก้ไขและป้องกันการทรุดตัวของถนนคันคลองชลประทานในเขตจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ว่า กรมฯ ได้เร่งแก้ไขและคืนผิวจราจรชั่วคราวให้ประชาชนภายใน 7-10 วัน ปัจจุบันพบถนนจังหวัดปทุมธานีได้รับผลกระทบจำนวน 10 เส้นทาง ระยะทาง 6.2 กม. เฉพาะถนนเลียบคลองระพีพัฒน์จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทาง 2.3 กม. ซึ่งกรมฯ ได้ติดตั้งป้ายเตือน กรวย แบริเออร์คอนกรีต ไฟกะพริบ เพื่อความปลอดภัยทั้งกลางวันและกลางคืน และเตรียมของบแปรญัตติปี 2559 จำนวน 850 ล้านบาท แยกเป็นงบสำหรับซ่อมแซมถนนที่ทรุดตัวจำนวน 700 ล้านบาท อีก 150 ล้านบาทสำหรับใช้ในการสำรวจวิเคราะห์ข้อมูลดินและออกแบบถนนที่มีความเสี่ยง ระยะทาง 750 กม. หากได้รับอนุมัติ เดือน ต.ค.นี้เริ่มว่าจ้างปรับปรุงซ่อมแซมถนนเสียหายได้ ประมาณเดือน มี.ค. 2559 แล้วเสร็จพร้อมคืนผิวจราจร
นอกจากนี้ กรมฯ เตรียมออกประกาศปรับลดน้ำหนักบรรทุกวิ่งผ่านถนนคันคลองชลประทานชั่วคราว จำนวน 56 เส้นทางทั่วประเทศ รวม 7 ประเภท ได้แก่ 1. รถยนต์ 4 ล้อ จากเดิม 9.5 ตัน ลดลงเหลือ 6.8 ตัน 2. รถยนต์ 6 ล้อ จาก 15 ตัน เหลือ 10.8 ตัน 3. รถยนต์ 10 ล้อ จาก 25 ตัน เหลือ 18 ตัน 4. รถพ่วง 5 เพลา 18 ล้อ จาก 47 ตัน เหลือ 33.8 ตัน 5. รถพ่วง 6 เพลา 22 ล้อ จาก 50.5 ตัน เหลือ 36.3 ตัน 6. รถกึ่งพ่วง 5 เพลา 18 ล้อ จาก 45 ตัน เหลือ 32.4 ตัน และ 7. รถกึ่งพ่วง 6 เพลา 22 ล้อ จาก 50.5 ตัน เหลือ 36.3 ตัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้สิ้นเดือน ก.ค. 2558 ทั้งนี้ หากพ้นช่วงวิกฤต หากมีการเปลี่ยนแปลงกรมฯ จะประกาศให้ทราบอีกครั้ง
นอกจากนี้ ได้เร่งเจาะสำรวจดินของถนนที่อยู่ในความเสี่ยงทุกสาย เพื่อออกแบบป้องกันการเคลื่อนตัวของคันทาง โดยเน้นการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน ท้องถิ่น การขุดลอกคลอง และการรักษาระดับน้ำในคลองเพื่อรักษาเสถียรภาพของคันทาง รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนสอดส่องดูแล หากพบเห็นถนนแตกร้าว ทรุดตัว แจ้งสายด่วนกรมทางหลวงชนบท 1146