xs
xsm
sm
md
lg

เทดดี้ส์ บิ๊กเกอร์ เบอร์เกอร์ บุกไทย “เอ็มเคเค” ผุดบริษัทคว้าไลเซนส์ ลดความเสี่ยงแฟชั่นยอดวูบ ยอดตก ลุยฟูดคว้าสิทธิ์ “เทดดี้ เบอร์เกอร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาววงศ์รัตน์ ออรัตนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกโก เรสเตอร์รอง จำกัด
ธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นเจ็บตัว ยอดขายหดรับเศรษฐกิจแย่ “กลุ่มเอ็มเคเค” สยายปีกธุรกิจฟูดลดเสี่ยง ตั้ง “โกโกฯ” คว้าไลเซนส์ เทดดี้ส์บิ๊กเกอร์เบอร์เกอร์ รุกตลาดพรีเมียมเบอร์เกอร์ในไทย

นางสาววงศ์รัตน์ ออรัตนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกโก เรสเตอร์รอง จำกัด ผู้รับสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ร้าน “เทดดี้ส์ บิ๊กเกอร์ เบอร์เกอร์” ในไทยจากสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า บริษัทฯ รับสิทธิ์สัญญานาน 8 ปี “เทดดี้ส์ บิ๊กเกอร์” จะเข้ามารุกตลาดเบอร์เกอร์ในไทยในระดับพรีเมียมเบอร์เกอร์ แตกต่างจากเบอร์เกอร์ฟาสต์ฟูดทั่วไปที่ทำตลาดอยู่ในไทยเวลานี้ โดยจะเป็นบริการแบบฟูลเซอร์วิสเรสเตอรองต์เหมือนกับเบอร์เกอร์ในโรงแรม ภัตตาคาร

แผน 3 ปีจากนี้คือจะมีสาขารวม 10 สาขา งบลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท โดยปีแรกคือปี 2558 จะเปิด 2 สาขา คือที่ เกตเวย์เอกมัย เดือนกรกฎาคมนี้ พื้นที่ใหญ่สุด 196 ตารางเมตรและเป็นสาขาแฟลกชิปด้วย ส่วนสาขาสองที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า พื้นที่ 54 ตารางเมตร ขณะที่ปีหน้าเปิดอีก 2 สาขา และปี 2560 จะเปิดอีก 6 สาขา ซึ่งมากกว่าในสัญญาแฟรนไชส์ที่ระบุไว้ว่าจะต้องเปิดให้ได้ 4 สาขาภายใน 3 ปี

รูปแบบของร้านจะมี 2 แบบ คือ มาตรฐานทั่วไป เน้นเปิดตามย่านการค้าใหญ่ๆ และรูปแบบป็อปอัพสโตร์ที่เปิดตามงานอีเวนต์ทั่วไป ทั้งนี้ ระดับราคาอยู่ที่ 175-360 บาท วัตดุดิบหลักคือเนื้อนำเข้าจากต่างประเทศ คาดว่าจะมียอดขาย 2 ล้านบาทต่อเดือนต่อสาขา จุดเด่นคือการทำสดตามออเดอร์ พร้อมกับมีทอปปิ้ง

“ตลาดเบอร์เกอร์ในไทยมีมูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาท มีโอกาสเติบโตอีกมาก แม้ว่าทุกวันนี้จะมีผู้เล่นรายใหญ่ที่เป็นเชนไม่กี่ราย และมีผู้เล่นที่เป็นรายเดี่ยว หรือเมนูเบอร์เกอร์เป็นตัวชูโรงที่เรียกว่า ฟูดทรัก หรือ Food Truck แต่จุดเด่นของเราคือ การบริการแบบภัตตาคาร มีซอสให้เลือกมากถึง 6 ชนิด สั่งระดับความสุกได้”

ทั้งนี้ ฐานธุรกิจเดิมของครอบครัวมีหลายธุรกิจหลัก เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น โรงพิมพ์ อสังหาฯ และเซียงกง ซึ่งธุรกิจหลักคือ เสื้อผ้าแฟชั่น ในนามบริษัท เอ็ม เค เค ประเทศไทย จำกัด ทำมานานกว่า 33 ปีแล้ว มี 5 แบรนด์ คือ Mikiko, MathaOrleans, VeroniQa, O R Design และ Orella อยู่ในภาวะที่ไม่ค่อยดีเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ กำลังซื้อลดลง และรายได้ลดลงมาตลอดตั้งแต่ 400-500 ล้านบาท ในช่วงที่สูงสุด กระทั่งปีที่แล้วมียอดขายเหลือเพียง 180 ล้านบาท หรือตกลงมากกว่า 30% และคาดว่าปีนี้คงตกลงอีก 10% ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาปิดจุดขายไปแล้วรวม 50 กว่าแห่ง ครึ่งปีแรกนี้ปิดจุดขายไปแล้ว 20 แห่ง และคาดว่าครึ่งปีหลังจะปิดอีก 10 แห่ง จากปัจจุบันเหลือ 156 จุดขายตามห้างสรรพสินค้า

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ คาดว่าธุรกิจเสื้อผ้าคงไม่ได้เติบโตมากนักและโอกาสที่จะกลับคืนสู่รายได้เหมือนในอดีตคงยากเพราะเศรษฐกิจแบบนี้ แต่ก็พยายามแก้ไขมาตลอด มีการจัดกิจกรรมลดราคาตลอด หาสินค้าที่สามารถมิกซ์แอนด์แมตช์กันมากขึ้นมาจำหน่ายจับกลุ่มระดับบน รวมทั้งจะขยายตลาดไปเออีซีด้วย ที่เจรจาอยู่ก็เช่นที่พม่า ส่วนที่มาเลเซียก็เคยเจรจาแต่ยังไม่สรุป ซึ่งการขยายสู่ธุรกิจอาหารก็เหมือนกับเป็นการกระจายความเสี่ยงเหมือนกัน เพราะเศรษฐกิจไม่ดีแฟชั่นจะได้รับผลกระทบมาก แต่อาหารก็ยังอยู่ได้ 
นาย Ted Tsakiris (ที่3จากซ๋้าย )  และนาย Richard Stula (ที่ 4 จากซ้าย) ผู้ร่วมก่อตั้ง เทดดี้ส์ บิีกเกอร์ เบอร์เกอร์
นาย Ted Tsakiris ผู้ก่อตั้งแบรนด์ เทดดี้ส์ บิ๊กเกอร์ เบอร์เกอร์ กล่าวว่า ได้ร่วมกับนาย Richard Stula ก่อตั้ง “เทดดี้ส์ บิ๊กเกอร์ เบอร์เกอร์” ที่รัฐฮาวาย อเมริกา ตั้งมา 17 ปีแล้ว มีสาขาที่อเมริกา 17 สาขา และจะเปิดอีก 1 สาขาที่เทกซัสเดือนหน้า ส่วนต่างประเทศเริ่มขายไลเซนส์แล้ว เช่น ญี่ปุ่น มี 1 สาขา จะเปิดเพิ่มอีก 5 สาขาภายใน 5 ปี, ที่มะนิลา ฟิลิปปินส์ มี 2 สาขา ซึ่งแผน 5 ปีจะมี 9 สาขา และเตรียมเปิดที่ซาอุดีอาระเบีย และดูไบในปีหน้า




กำลังโหลดความคิดเห็น