xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ย้ำ 40 วันอันตรายใช้น้ำประหยัด 2 เขื่อนใหญ่น้ำวิกฤตแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กฟผ.เผยสถานการณ์น้ำ 2 เขื่อนใหญ่ เขื่อนภูมิพลน้ำไหลลงเขื่อนน้อยที่สุดในรอบ 51 ปี เขื่อนสิริกิติ์น้ำลดลงใกล้ถึงระดับวิกฤต จากปริมาณฝนที่น้อยกว่าปกติ


นายณัฐจพนธ์ ภูมิเวียงศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยสถานการณ์น้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ปัจจุบันอยู่ในภาวะวิกฤตน้ำแล้ง มีปริมาณน้ำสามารถใช้งานได้น้อยมาก อีกทั้งยังไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามาเติมในเขื่อนเหมือนปีที่ผ่านมา โดยฤดูฝนปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-11 มิถุนายน 2558 มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลเพียง 4 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เท่านั้น น้อยที่สุดในรอบ 51 ปี หรือตั้งแต่มีการเก็บกักน้ำมา ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ แม้จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนบ้างแต่อยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากถึง 46% ลดลงในระดับวิกฤต เหลือปริมาณน้ำใช้งานได้ 779 ล้าน ลบ.ม. สามารถระบายน้ำเพื่อการเกษตรได้บางส่วนเท่านั้น

“การปลูกข้าวนาปี ซึ่งเริ่มทำการเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นมา ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับวิกฤต ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำใช้งานได้เพียง 410 ล้าน ลบ.ม. ไม่สามารถระบายน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากปริมาณน้ำส่วนนี้ต้องสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ ซึ่งเขื่อนภูมิพลมีการปรับลดการระบายน้ำจากวันละ 22 ล้าน ลบ.ม. ลงเหลือวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์มีการปรับลดการระบายน้ำจากวันละ 33 ล้าน ลบ.ม. ลงเหลือวันละ 22 ล้าน ลบ.ม.” นายณัฐจพนธ์กล่าว

จากสถานการณ์น้ำแล้งดังกล่าว ประกอบกับการคาดการณ์สภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งปีนี้ปริมาณฝนในภาพรวมจะน้อยกว่าค่าปกติและน้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งมีรองอธิบดีกรมชลประทานเป็นประธาน และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดสินใจให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปี ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อนจนกว่าจะมีฝนตกชุกตามปกติ และให้ปรับลดการใช้น้ำจากเขื่อนทั้งสี่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาลง เพื่อประคองปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ให้สามารถระบายเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอดจนเจียดจ่ายน้ำบางส่วนให้แก่พื้นที่นาที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้วได้เพียงพอในช่วง 40 วัน หรือจนกว่าจะมีปริมาณฝนธรรมชาติเพียงพอ

“เขื่อนทั้งสองนับว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำในอ่างฯ และปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ซึ่งจากสถานการณ์น้ำดังกล่าว คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำจึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรปฏิบัติตามข้อแนะนำของกรมชลประทาน และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้สามารถผ่านพ้นช่วง 40 วันนี้ไปได้จนกว่าฝนจะเข้ามาเติม”
กำลังโหลดความคิดเห็น