กรมเจ้าท่าเผย เรือไทยได้รับการยกระดับคุณภาพ เลื่อนสถานะจากกลุ่มบัญชีดำหรือเรือคุณภาพต่ำเป็นกลุ่มบัญชีเทา หรือเรือคุณภาพตามเกณฑ์ หลังจากเพิ่มมาตรการแก้ปัญหาเรือไทยเก่า เข้มงวดมาตรฐาน ตั้งแต่เจ้าของเรือ ผู้บริหารเรือ และบุคลากรประจำเรือจนยกเกรดสำเร็จ
รายงานข่าวจากกรมเจ้าท่า (จท.) แจ้งว่า กรมเจ้าท่าได้รับข้อมูลจาก Tokyo Mou ซึ่งออกรายงานประจำปี 2014 ประกาศเลื่อนสถานะกองเรือชักธงไทยจากกลุ่มบัญชีดำ หรือเรือคุณภาพต่ำ (Black List) เป็นกลุ่มเรือบัญชีเทา หรือเรือคุณภาพตามเกณฑ์ (Grey List) ในเดือนเมษายน ปี 2015 หลังจากที่ซึ่งประเทศไทยถูกจัดกลุ่มอยู่ในบัญชีดำตั้งแต่ปี 2002 จนกระทั่งถึงปี 2013 เนื่องจากสภาพเกณฑ์อายุเฉลี่ยของเรือไทยมีอายุเฉลี่ยค่อนข้างสูง ซึ่งต้องได้รับการบำรุงรักษาเรือให้ได้มาตรฐานตลอดเวลา
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกรุงโตเกียว (Tokyo Mou) เกี่ยวกับการตรวจควบคุมเรือในเมืองท่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 19 ประเทศ ประกอบด้วย Australia, Canada, Chili, Fiji, Hongkong(China), Indonesia, Japan, Republic of Korea, Malaysia, New Zealand, Papua New Guinea, The Philippines, The Russian Federation, Singapore, Solomon Islands, Thailand, Vanuatu และ Vietnam
โดยบันทึกความเข้าใจกรุงโตเกียวนี้มีสาระสำคัญในการควบคุมเรือต่างชาติที่เดินเรือเข้ามาในเมืองท่าของประเทศสมาชิกที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อทำการพัฒนาการตรวจควบคุมเรือในเมืองท่า โดยให้เป็นไปตามพันธะข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ Tokyo Mou เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินเรือและป้องกันไม่ให้การเดินเรือก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ Toky Mou ได้ให้ประเทศสมาชิกตรวจเรือต่างประเทศในแต่ละเมืองท่า และประเมินผลคุณภาพเรือ โดยนำผลการตรวจคุณภาพเรือในรอบ 3 ปีมาคิดคำนวณ ซึ่งจัดเป็นบัญชีดำ (Black List หมายถึง เรือคุณภาพต่ำ) บัญชีเทา (Grey List หมายถึง เรือคุณภาพตามเกณฑ์) และบัญชีขาว (White List หมายถึง เรือคุณภาพดีมาก) ซึ่งประเทศไทยถูกจัดกลุ่มอยู่ในบัญชีดำตั้งแต่ปี 2002 จนกระทั่งถึงปี 2013 เนื่องจากสภาพเกณฑ์อายุเฉลี่ยของเรือไทยมีอายุเฉลี่ยค่อนข้างสูง ซึ่งต้องได้รับการบำรุงรักษาเรือให้ได้มาตรฐานตลอดเวลา
สำนักมาตรฐานเรือ กรมเจ้าท่า จึงพยายามผลักดันและแก้ปัญหาการถูกขึ้นบัญชีดำอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหากองเรือชักธงไทยถูกขึ้นบัญชีดำ ซึ่งดำเนินการแก้ไขปัญหากับเจ้าของเรือ ผู้บริหารเรือ บุคลากรผู้ปฏิบัติงานในเรือ เจ้าพนักงานตรวจเรือ และองค์กรที่ได้รับอำนาจ โดยมีมาตรการเชิงป้องกันในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่อง Port State Control แก่ผู้บริหารเรือ ผู้ปฏิบัติงานบนเรือ การตรวจเรือก่อนเข้าหรือออกจากเมืองท่าทุกครั้ง สำหรับเรือที่มีประวัติอัตราการถูกกักสูง ผู้บริหารเรือ ผู้ปฏิบัติงานในเรือ และเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า จะต้องร่วมกันตรวจเรือก่อนเดินทางไปเมืองท่าต่างประเทศ โดยใช้มาตรฐานวิธีการตรวจเดียวกับเจ้าหน้าที่ควบคุมเรือในเมืองท่าในต่างประเทศ มาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาระหว่างกรมเจ้าท่ากับเจ้าของเรือหรือบริษัทผู้บริหารเรือ ในกรณีที่ถูกตรวจกักเรือ ให้เจ้าของเรือและบริษัทผู้บริหารเรือชี้แจงสาเหตุและกำหนดเวลาการดำเนินการให้ชัดเจน
กรณีตรวจเรือแล้วพบข้อบกพร่องที่ร้ายแรง กรมเจ้าท่าจะจัดส่งเจ้าพนักงานตรวจเรือหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมจัดชั้นเรือตรวจเรือซ้ำอีกครั้ง และในกรณีที่ตรวจพบว่าเรือลำใดมีประวัติถูกกักเรือสูงเกินกว่า 1 ครั้งในรอบ 12 เดือน รวมทั้งเป็นข้อบกพร่องที่เคยเป็นสาเหตุให้ถูกกักเรือมาแล้วนั้น เจ้าพนักงานตรวจเรือจะออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือประจำปีให้แก่เจ้าของเรือไม่เต็มจำนวน 12 เดือนหรือไม่เกิน 6 เดือน และมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาระหว่างกรมเจ้าท่ากับหน่วยงานผู้ได้รับมอบอำนาจ
ในกรณีที่ถูกตรวจกักเรือ ให้หน่วยงานผู้ได้รับมอบอำนาจชี้แจงสาเหตุและกำหนดเวลาการดำเนินการให้ชัดเจน กรณีตรวจเรือแล้วพบข้อบกพร่องที่ร้ายแรง กรมเจ้าท่าจะจัดส่งเจ้าพนักงานตรวจเรือหรือร่วมตรวจเรือซ้ำ หากพิจารณาแล้วพบว่าข้อบกพร่องต่างๆ ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้อยู่ในสภาพปกติและปลอดภัย กรมเจ้าท่าจะพิจารณายกเลิกการมอบอำนาจเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการแก้ไขให้แล้วเสร็จ และหากพบว่าหน่วยงานผู้ที่ได้รับมอบอำนาจไม่ใส่ใจควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของเรือจะยกเลิกการมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการถาวร