xs
xsm
sm
md
lg

สตรีคนแรกที่เดินทางรอบโลก

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Jeanne Baret
เมื่อ Carl Linnaeus ซึ่งเป็นบิดาของอนุกรมวิธานวิทยาที่ว่าด้วยหลักการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องการจะศึกษาวิถีชีวิตของชาว Sami ที่อาศัยใน Lapland เขาได้ตัดสินใจปลอมตัวเป็นชาว Sami โดยไม่ตระหนักแม้แต่น้อยว่า ชุดที่เขาสวมใส่นั้นเป็นเสื้อผ้าผู้หญิง

อีก 30 ปีต่อมา เมื่อ Jeanne Baret ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ประสงค์จะเดินทางรอบโลกบ้าง เธอได้ปลอมตัวเป็นผู้ชายชื่อ Jean Baret เพื่อเดินทางร่วมไปกับขบวนเรือภายใต้บังคับบัญชาของกัปตัน Louis–Antoine de Bougainville ที่มีเรือ La Boudeuse และ Etoile การเดินทางครั้งนั้นทำให้เธอได้เห็นสิ่งมีชีวิตนานาชนิดเป็นจำนวนมากกว่าที่ Linnaeus เห็นหลายเท่า เพราะ Linnaeus ทำงานโดยการพำนักอยู่ที่สวีเดนตลอดเวลา แต่โลกกลับรู้จัก Linnaeus ดี และแทบไม่รู้จัก Baret เลยว่าเธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เดินทางรอบโลก โดยได้ปลอมตัวเป็นผู้ชายรับใช้บนเรือ และเป็นผู้ช่วยของนักชีววิทยาชื่อ Philibert Commerson

การที่เธอต้องแต่งตัวเป็นผู้ชาย เพราะในสมัยนั้น การเดินทางในทะเลต้องใช้เวลานานอยู่ท่ามกลางกะลาสีผู้ชาย ดังนั้นเพื่อป้องกันภัยข่มขืน เธอจึงต้องปลอมตัว

Jean Baret เกิดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ.1740 (ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าบรมโกษในสมัยอยุธยา) ที่หมู่บ้าน La Comelle ในแคว้น Burgundy ของฝรั่งเศส บิดามีอาชีพเป็นกรรมกร ในสมัยนั้นแคว้น Burgundy เป็นถิ่นอาศัยของคนยากจน และชาวนาที่ไร้การศึกษา แต่ Baret ก็พออ่านออกเขียนหนังสือได้บ้าง โดยได้รับการสั่งสอนจากบาทหลวง

เมื่ออายุ 20 ปี เธอได้ไปสมัครทำงานเป็นแม่บ้านของ Philibert Commerson (ซึ่งมีเพื่อนชื่อ Voltaire และ Linnaeus) ที่เมือง Toulon-sur-Arroux ที่อยู่ห่างจากบ้านเกิดของเธอประมาณ 20 กิโลเมตร เพราะ Commerson เพิ่งแต่งงาน ดังนั้นงานครอบครัวที่ Beret ต้องทำจึงไม่หนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี ภรรยาของ Commerson ก็เสียชีวิตจากการคลอดลูก Baret จึงเข้าทำงานแม่บ้านเต็มตัว และตั้งครรภ์กับ Commerson ในปี 1764 ซึ่งตามกฎหมายของฝรั่งเศสในเวลานั้น สตรีคนใดที่ตั้งครรภ์โดยไม่ได้แต่งงาน จะต้องขอประกาศนียบัตรตั้งครรภ์จากทางการเพื่อให้ลูกที่จะคลอดสามารถใช้ชื่อพ่อได้ แต่ Baret มิได้ดำเนินการใดๆ กระนั้นทุกคนในเมืองก็รู้ว่า บิดาของเด็กชื่อ Commerson

หลังจากนั้นไม่นาน ทั้งสองได้อพยพไปปารีส และ Baret ได้ตั้งชื่อลูกว่า Jean-Pierre Baret และได้มอบลูกให้คนอื่นดูแล แต่เด็กก็ได้เสียชีวิตในอีกหนึ่งปีต่อมา

ในปี 1765 Commerson ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเดินทางสำรวจธรรมชาติรอบโลกในขบวนเรือของ Bougainville ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้า Louis ที่ 15 ซึ่งทรงประสงค์ให้ Bougainville เป็นชาวฝรั่งเศสคนแรกที่เดินทางรอบโลก อันจะทำให้คนฝรั่งเศสทั้งประเทศรู้สึกดีและภูมิใจในชาติของตน หลังจากที่ได้พ่ายแพ้สงคราม 7 ปีกับอังกฤษ การสำรวจนี้จะมีนักภูมิศาสตร์ นักชีววิทยา แพทย์ นักดาราศาสตร์ นักเขียน และนักประวัติศาสตร์ ฯลฯ หลายคนร่วมเดินทางไปด้วย

ขณะนั้น Commerson มีสุขภาพไม่ดีนัก และต้องการความช่วยเหลือจาก Baret ตลอดเวลา แต่ไม่สามารถนำ Baret ไปได้ เพราะราชนาวีฝรั่งเศสมีกฎหมายห้ามสตรีโดยสารเรือเดินทางไกล

เมื่อมีกฎหมายห้าม แต่ Commerson ต้องการให้เธอไปด้วย Baret จึงต้องปลอมตัว และได้ไปสอบสัมภาษณ์โดยบอก Bougainville ว่า เธอกำพร้าพ่อ-แม่ และมีฐานะยากจน แต่อ่านหนังสือออกบ้าง เมื่อได้รับอนุญาต เธอแต่งตัวในชุดเด็กชายและทำเป็นไม่รู้จัก Commerson เพื่อไม่ให้ใครสงสัย

ขบวนเรือของ Bougainville แล่นออกจากท่าที่เมือง Nantes เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ.1766 บนเรือ La Boudeuse มีลูกเรือ 214 คน ส่วนบนเรือ Etoile มีลูกเรือ 116 คน แต่ก่อนจะออกเดินทาง Commerson ได้เขียนพินัยกรรมมอบเงิน 600 livres ให้แก่คนที่ดูแลบ้านชื่อ Bonnefoi

คนทั้งสองได้พักอยู่ในห้องเดียวกันบนเรือ Etoile เพราะห้องมีขนาดใหญ่พอสำหรับเก็บพืช สัตว์ตัวอย่าง และอุปกรณ์ที่ใช้ในการสังเกตต่างๆ ของ Commerson และมีห้องน้ำกับห้องพักส่วนตัวให้ Commerson ด้วย ตลอดเวลาที่อยู่บนเรือเวลาแต่งตัว Baret จะเอาผ้ารัดที่หน้าอกแน่นเพื่อไม่ให้ใครเห็นผิดสังเกต
ภาพเหมือน Carl Linnaeus ในชุดของชาว Sami
นักประวัติศาสตร์ทุกวันนี้มีความเห็นว่า Baret คงได้ความคิดเรื่องการปลอมตัวเป็นผู้ชาย จากกรณี Hannah Snell ซึ่งในปี 1745 ได้เคยแต่งตัวเป็นทหารเรือเดินทางไปอยู่ที่อินเดียเป็นเวลา 5 ปี ครั้นเมื่อกลับถึงอังกฤษก็ได้เรียบเรียงประสบการณ์เป็นหนังสือ ชื่อ “The Female Soldier” ที่ขายดีจนเป็นเบสเซลเลอร์

ขณะเดินทาง Commerson รู้สึกเมาคลื่นมาก Baret จึงต้องดูแลพยาบาลตลอดเวลา จนกระทั่งเรือเดินทางถึง Montevideo ในอเมริกาใต้ คนทั้งสองจึงขึ้นบก และเดินสำรวจภูมิประเทศ แต่เมื่อเรือจอดที่ Rio de Janeiro Commerson ได้เห็นดอกเฟื่องฟ้าที่ชาวยุโรปไม่เคยพบเห็นมาก่อน เขาจึงตั้งชื่อสกุลว่า Bougainvillea

จากนั้นได้เดินทางต่อไปที่ Patagonia และคอยจังหวะลมพัดช่วยเรือแล่นผ่านช่องแคบ Magellan อาการป่วยของ Commerson ได้ทวีความรุนแรงขึ้น จน Baret ต้องคอยพยุงให้เดินสำรวจ และ Baret ได้ช่วยเก็บตัวอย่างพืช สัตว์ และเปลือกหอยแปลกๆ มาจัดแบ่งกลุ่ม

ลุถึงเดือนเมษายน ปี 1768 ขบวนเรือสำรวจได้เดินทางถึง Tahiti แพทย์ประจำเรือชื่อ Francois Vives เป็นคนแรกที่พบว่า Baret คือผู้หญิง เพราะบุคลิกของเธอทำให้ Vives สงสัย และเมื่อชาวเกาะ Tahiti กรูกันเข้ามาหาเธอ เธอได้ส่งเสียงร้องทำให้ความแตก หลังจากที่ถูกข่มขืน เธอได้บอก Vives ว่าเธอเป็นพวกลักเพศ

เมื่อเรือเข้าเทียบท่าที่ Papua New Guinea ในเดือนมิถุนายน Baret ก็ตั้งครรภ์ จากนั้นเรือได้หยุดพักที่ East Indies และที่ Mauritius ซึ่งในสมัยนั้นเรียก Isle de France ณ ที่นี่ Commerson เก็บพืชตัวอย่างเป็นไม้ดอกได้ 119 สปีชีส์ และตั้งชื่อพันธุ์ไม้ตามชื่อของ Commerson 70 ชื่อ แต่มีเพียง 1 ชื่อเท่านั้นที่ตั้งตามชื่อของ Baret ว่า Solanum baretiae (ส่วนที่ Brazil นั้นเก็บพืชได้ 84 สปีชีส์) และ Commerson ดีใจมากที่ได้พบผู้ว่าราชการประจำเกาะซึ่งเป็นเพื่อนเก่า จึงได้ขอพักที่ Mauritius เพื่อฟื้นฟูสุขภาพ กัปตัน Bougainville รู้สึกดีใจมากที่คนทั้งสองแยกออกจากเรือ เขาจึงเดินทางต่อและกลับถึงฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 1769 พร้อมลูกเรือ 323 คน เพราะมีคนเสียชีวิต 7 คน

ด้าน Commerson กับ Baret ได้พำนักอยู่ที่ Mauritius ต่อจนกระทั่ง Commerson เสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1773 Baret จึงแต่งงานใหม่กับ Jean Dubernat และเมื่อผู้ว่าฯ Pierre Poivre ถูกเรียกตัวกลับฝรั่งเศส Baret กับสามีจึงเดินทางกลับด้วยในปี 1774 เพื่อกลับไปรับมรดกของ Commerson

ประวัติศาสตร์มิได้บันทึกละเอียดว่า เธอขึ้นบกที่ฝรั่งเศส ณ ที่ใด แต่คงเป็นในปี 1775

ถึงเดือนเมษายนปี 1776 Baret ก็ได้รับมรดกของ Commerson เป็นที่เรียบร้อยและสร้างครอบครัวที่ Saint-Aulaye

ในปี 1785 Baret ก็ได้รับบำนาญเป็นเงินปีละ 200 livres ในฐานะที่เป็นผู้หญิงคนแรกที่เดินทางรอบโลกกับ de Bougainville อีกทั้งได้ช่วย Commerson ทำงานด้านพฤกษศาสตร์

Baret เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ.1807 สิริอายุ 67 ปี

โลกเพิ่งรู้จักเธอจากหนังสือ Voyage Around the World ที่ Bougainville เรียบเรียง ซึ่งได้กล่าวถึงการเดินทางรอบโลกของเขา การข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก การพบสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจใน Argentina, Patagonia, Tahiti และ Indonesia รวมถึงหมู่เกาะ Falklands ด้วย

ในปี 2010 Glynis Ridley ได้เรียบเรียงชีวประวัติของ Baret ลงในหนังสือ “The Discovery of Jeanne Baret : A Story of Science, the High Seas and the First Woman to Circumnavigate the Globe”

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์


Instagram








*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น