xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ปากีสถานนัดถกวางกรอบเจรจาเอฟทีเอ 29 พ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทย-ปากีสถาน เตรียมถกเจ้าหน้าที่อาวุโสวางกรอบเจรจาเอฟทีเอ 29 พ.ค.นี้ ก่อนประชุมระดับรัฐมนตรีนัดแรกเดือน ก.ย.นี้ เผยไทยหวังใช้ปากีสถานเป็นประตูบุกเอเชียใต้-ตะวันออกกลาง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายคูราม เดสกีร์ ข่าน รมว.พาณิชย์สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความคืบหน้าการจัดทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่งกัน ซึ่งกำหนดให้มีการเจรจาเอฟทีเอระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อกำหนดกรอบการเจรจาในวันที่ 29 พ.ค.นี้ และภายใต้กรอบความตกลงจะหารือเฉพาะในเรื่องการค้า การลงทุนเท่านั้น

“เชื่อว่าการเจรจาเอฟทีเอไทย-ปากีสถาน จะช่วยผลักดันปริมาณการค้าทั้งสองฝ่ายให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2,080 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2561 ได้เร็วขึ้น เพราะเมื่อปี 2557 การค้าระหว่างกันมีมูลค่าเพียง 1,016 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น โดยในเดือน ก.ค. ตนจะเดินทางไปประชุมคณะกรรมการร่วมมือทางการค้า (เจทีซี) ครั้งที่ 3 ที่กรุงอิสลามาบัด ปากีสถาน และในเดือน ก.ย. ไทยจะกลับมาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจรจาเอฟทีเอไทย-ปากีสถาน รอบแรกด้วย”

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทย-ปากีสถาน ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ไทยจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียนให้ปากีสถาน ส่วนปากีสถานจะเป็นประตูไปสู่เอเชียกลาง อัฟกานิสถาน และตะวันออกกลางให้กับไทย ซึ่งความพร้อมของไทยในเรื่องความเชื่อมโยงทางขนส่ง ขณะนี้รัฐบาลได้ลงนามสร้างรถไฟเชื่อมเหนือสู่ใต้ คือ จากจีน (ตอนใต้)-สปป.ลาว-ไทย-(จากหนองคาย-กรุงเทพฯ)-มาเลเซีย ส่วนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก มี 2 เส้นทาง คือ ด้านบน จากพม่า-แม่สอด (จ.ตาก)-กำแพงเพชร-นครสวรรค์-มุกดาหาร-สปป.ลาว-เวียดนาม และเส้นทางด้านล่าง จากท่าเรือน้ำลึกทวาย พม่า-ท่าเรือแหลมฉบัง โดยผ่านด่านบ้านพุน้ำร้อน-กาญจนบุรี-ราชบุรี-นครปฐม-สมุทรสาคร-กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ท่าเรือแหลมฉบัง (สามารถแยกจาก จ.ฉะเชิงเทรา ไปสระแก้ว-อรัญประเทศ-กัมพูชาได้) ซึ่งจากท่าเรือทวายก็สามารถจะเชื่อมกับปากีสถานได้เช่นกัน

“โครงการลงทุนเส้นทางขนส่งต่างๆ จะเริ่มในปี 2558 และจะแล้วเสร็จในอีก 3 ปี จึงเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยจะเป็นประตูสู่จีน พม่า สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งนอกจากการค้าแล้ว รัฐบาลก็ยินดีต้อนรับนักลงทุนด้วย”

อย่างไรก็ตาม ทาง รมว.พาณิชย์ปากีสถานได้เห็นพ้องร่วมกับไทยว่าขณะนี้ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการเจรจาเอฟทีเอ เพราะจะช่วยให้ภาคธุรกิจ 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ทำการค้าได้เร็วขึ้น ซึ่งเอฟทีเอจะสร้างสัมพันธ์กันทางการค้าในระยะยาว และเป็นรากฐานที่ยั่งยืนด้านอื่นๆ

สำหรับปากีสถานนั้น ขณะนี้ได้ทำเอฟทีเอกับจีน มาเลเซีย ศรีลังกา ส่วนไทยจะเป็นชาติที่ 4 โดยฝ่ายไทยนั้นมีความได้เปรียบเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน ยางพารา ส่วนปากีสถานมีความได้เปรียบเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งนักธุรกิจสองฝ่ายสามารถเอื้ออำนวยประโยชน์ระหว่างกันได้ และพร้อมที่จะจัดการเจรจาทางธุรกิจให้แก่นักธุรกิจสองฝ่าย ซึ่งทราบว่าสภาธุรกิจไทย-ปากีสถาน และสภาธุรกิจปากีสถาน-ไทยมีความเข้มแข็ง และมีการแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนการค้าระหว่างกันสม่ำเสมอ

ด้านสถิติการค้าไทยกับปากีสถานตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2553-2557) มีมูลค่าเฉลี่ย 994.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าปากีสถานเฉลี่ยปีละ 777 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นประมาณ 80% ของมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศ โดยไทยนำเข้าสินค้าจากปากีสถานเพิ่มสูงขึ้นถึง 40.86% ในขณะที่การส่งออกของไทยไปยังปากีสถานลดลง 6.38% แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มว่าในอนาคตการค้าทั้งสองฝ่ายของสองประเทศจะมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ไทยยังให้สิทธิพิเศษทางภาษี (GSTP) แก่ประเทศกำลังพัฒนา 43 ประเทศรวมทั้งปากีสถานด้วย อีกทั้งยังเห็นว่าจะเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญด้วย ซึ่งการนำเข้าสินค้าเหล่านี้จะส่งผลให้การนำเข้าจากปากีสถานเพิ่มสูงขึ้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น