xs
xsm
sm
md
lg

อีคอมเมิร์ซไทยทะลุ 2 แสนล้าน สบช่องเปิดธุรกิจออนไลน์คนกลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสืบศักดิ์ ลิ่วลักษณ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท อินสแตนท์ บิส จำกัด
ตลาดอีคอมเมิร์ซมูลค่า 200,000 ล้านบาท โตปีละไม่ต่ำกว่า 20% เหตุคนไทยเข้าถึงโซเชียลมีเดียง่ายขึ้น แฟชั่น เครื่องแต่งกาย อาหารเสริม ขายดีสุดในโลกออนไลน์ “อินสแตนท์ บิส” สบช่องว่าง ผุดโมเดลธุรกิจออนไลน์สำเร็จรูป สวมบทคนกลางระหว่างซัปพลายเออร์ กับรีเซลเลอร์ ติดปีกลุยออนไลน์ คาดเม็ดเงินสะพัด 600 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาทใน 3 ปี

นายสืบศักดิ์ ลิ่วลักษณ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท อินสแตนท์ บิส จำกัด ดำเนินธุรกิจออนไลน์สำเร็จรูป เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 200,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.7% เมื่อเทียบกับมูลค่ารีเทลทั้งระบบ จากปีก่อนอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท และในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 238,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มองว่าอัตราการเติบโตที่เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัย เช่น เทคโนโลยี 3G, ต้นทุนต่ำ, ขยายตลาดไประดับโลกได้ง่าย, ทำธุรกรรมได้ 24 ชม., ซื้อขายสะดวกผ่านอุปกรณ์สื่อสารทุกรูปแบบ และที่สำคัญคือสังคมออนไลน์เป็นส่วนสำคัญในการซื้อขาย เป็นต้น

จากตัวเลขที่เกิดขึ้นยังพบด้วยว่าธุรกิจออนไลน์มีการซื้อขายหลักอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1. B2C ขายให้แก่ผู้บริโภค 79.7% 2. B2B ขายให้แก่ธุรกิจ 19.3% และ 3. B2C ขายให้แก่ภาครัฐ 1% ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ขายอยู่ในธุรกิจออนไลน์นั้นประกอบด้วย 1. ท่องเที่ยว/โรงแรม 24% 2. แฟชั่น เครื่องแต่งกาย 23.3% 3. คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ 19.2% 4. ธุรกิจบริการ 7% 5. สิ่งพิมพ์ เครื่องใช้สำนักงาน 4.9% 6. ยานยนต์ 4.1% และ 7. สินค้าอื่นๆ รวมกันอีก 17.5% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องแต่งกาย รวมถึงอาหารเสริมถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก ยิ่งมีพรีเซ็นเตอร์ หรือเน็ตไอดอลเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งส่งผลต่อการขายและทำให้เกิดการติดตามได้ดีกว่าปกติ

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของทางกรมพัฒนาธุรกิจพบว่า ปัจจุบันในโลกออนไลน์ของไทยมีผู้ขายออนไลน์อยู่กว่า 1,005,000 ราย โดยสาเหตุที่มีผู้สนใจขายสินค้าออนไลน์มากขึ้นมาจาก 1. เริ่มต้นง่าย จากการที่ปัจจุบันมีเว็บไซต์สำเร็จรูปต่างๆ 2. ตามกระแส 3. กล้าซื้อของออนไลน์มากขึ้น 4. คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น 5. คนนิยมค้นหาข้อมูลสินค้าและร้านค้าบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น 6. เป็นการเพิ่มช่องทางขายให้แก่คนขายสินค้า และ 7. เป็นรายได้เสริมสำหรับคนทำงานประจำ

นายสืบศักดิ์กล่าวต่อว่า จากโอกาสที่เกิดขึ้นบริษัทจึงได้พัฒนาธุรกิจออนไลน์สำเร็จรูปขึ้นมา โดยทางอินสแตนท์ บิส จะทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างเจ้าของสินค้า หรือที่เรียกว่าซัปพลายเออร์ กับผู้ขายที่เรียกว่ารีเซลเลอร์ พร้อมการฝึกอบรมพัฒนาแนะวิธีการขายบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นคลังสินค้าดูแลระบบลอจิสติกส์ รวมถึงจัดการเรื่องของการแบ่งผลประโยชน์หลังการขายให้แก่ผู้ขายด้วย

โดยจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งในขณะนี้มีซัปพลายเออร์แล้ว 14 สินค้า ส่วนใหญ่เป็นอาหารเสริมและเป็นสินค้าเอสเอ็มอีที่เป็นที่รู้จักบ้างแล้ว ขณะที่รีเซลเลอร์มีแล้ว 5,000 ราย โดยหลังจากนี้จะพยายามเพิ่มซัปพลายเออร์ให้ได้เดือนละ 5 ราย ส่วนรีเซลเลอร์ต้องให้ได้ 10,000 ราย ถึงสิ้นปีนี้น่าจะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 600 ล้านบาท และใน 3 ปีจะเพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น