xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ชง ครม.ตั้ง “กก.บริหารฯ ระบบตั๋วร่วม” คุมค่าโดยสารผลิตนำร่องแสนใบ ก.พ. 59

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนข.ชง ครม.เร่งตั้ง กก.บริหารตั๋วร่วม เดินหน้ากำหนดอัตราค่าโดยสาร พร้อมเจรจา BTS, BMCL ลดค่าแรกเข้า และค่าธรรมเนียมเชื่อมระบบ วางบัตรล็อตแรกแสนใบนำร่องทดลองใช้ ก.พ. 59 ไม่มีค่ามัดจำ

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังประชุมเผยแพร่ “ภาพรวมโครงการระบบบริหารจัดการรายได้กลาง” (Overview of Central Clearing House) โครงการระบบตั๋วร่วมว่า ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชน ระบบขนส่งสาธารณะ ธนาคารและร้านค้าต่างๆ มารับฟังแนวทางการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาระบบตั๋วให้สอดคล้องกับบริการที่มีและบริการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากแต่ละผู้ประกอบการจะมีโปรโมชันที่แตกต่างกัน ดังนั้น ที่ปรึกษาระบบตั๋วร่วมจะต้องรับข้อมูลเพื่อนำไปออกแบบ และเชื่อมระบบให้มีความสะดวกในการให้บริการมากที่สุด

ทั้งนี้ ตามเป้าหมายกลุ่มบีเอสวี (BSV) ประกอบด้วย BTS, บริษัท สมาร์ททราฟฟิค จำกัด และบริษัท วิกซ์ โมบิลิตี้ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ระบบตั๋วร่วมจะต้องออกแบบและเชื่อมต่อการใช้งานให้แล้วเสร็จเพื่อนำร่องให้บริการในเดือน ก.พ. 2559 โดยจะเริ่มใช้งานได้ที่ระบบทางด่วน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ส่วนรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดินMRT นั้น ขณะนี้จะต้องมีการเจรจาในส่วนของการปรับปรุงระบบและซอฟต์แวร์กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS วงเงินลงทุนประมาณ90 ล้านบาท และบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL วงเงินลงทุนประมาณ 80 ล้านบาท ว่าใครจะเป็นผู้ลงทุน หากเอกชนลงทุนเองจะคิดค่าใช้จ่ายคืนในรูปแบบใดและเท่าไร ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) จะใช้ตั๋วร่วมได้ทันทีเมื่อเปิดให้บริการ รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดงด้วย

นายพีระพลกล่าวว่า ขณะนี้ สนข.ได้ส่งเรื่องความคืบหน้าการพัฒนาระบบตั๋วร่วมไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อรับทราบและพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ซึ่งจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน รวมทั้งการจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบ (Common Ticketing Company หรือ CTC โดยคณะกรรมการบริหารตั๋วร่วมจะกำหนดนโยบายเรื่องโครงสร้างอัตราค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียมการใช้ (Transaction Fee) เพื่อนำนโยบายต่างๆ ไปเจรจากับผู้ประกอบการ เพื่อจัดทำเป็นโครงสร้างค่าโดยสารระบบตั๋วร่วมขนส่งมวลชน รวมถึงจะพิจารณาเรื่องค่าแรกเข้าในการใช้ระบบรถไฟฟ้า BTS, MRT, แอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งนโยบายที่ต้องการอำนวยความสะดวกในการใช้บัตรใบเดียวใช้บริการได้ทุกระบบ แต่รถไฟฟ้ามีเงื่อนไขในสัญญาสัมปทาน ซึ่งขณะนี้ สนข.เสนอไว้ 2 แนวทาง คือ เก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียวในการเดินทาง 1 ครั้งกี่ระบบก็ได้ หรือให้ส่วนลดค่าแรกเข้าในการเข้าใช้ระบบที่ 2, 3 เป็นต้น โดยรัฐจะต้องเข้าไปอุดหนุนในรูปแบบต่างๆ เช่น ขยายระยะเวลาสัมปทาน หรือให้สิทธิในการพัฒนา เป็นต้น

โดยในเดือน ก.พ. 2559 ระบบจะแล้วเสร็จซึ่งได้เตรียมบัตรจำนวน 100,000 ใบเพื่อเริ่มใช้ทดลองโดยไม่มีค่ามัดจำ (บัตรมีต้นทุนผลิตใบละ 50 บาท อายุใช้งาน 4-5 ปี ความจุ 8K) คาดว่าจะทดลอง 2-3 เดือนระบบจะเสถียร คาดว่าช่วงแรกจะมีผู้ใช้ตั๋วร่วมประมาณ 3 แสนใบ หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของผู้ถือบัตรเติมเงินจากจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS, MRT และแอร์พอร์ตลิงก์ ที่มีกว่า 1 ล้านคนต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการเชื่อมการใช้บัตรกับร้านค้าต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ทางผู้บริหารบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยาได้สอบถามถึงการเชื่อมต่อกับเรือโดยสาร ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาท่าเทียบเรือกับกรมเจ้าท่า โดยจะมีการใช้ระบบตั๋วอัตโนมัติเริ่มในเดือน ส.ค. 2558 ซึ่งระบบตั๋วร่วมยังพัฒนาไม่เสร็จ ส่วนรถไฟนั้นถือเป็นการเดินทางระยะไกล จึงจะมีการพัฒนาในระยะต่อไปและต้องใช้เวลาในการแก้ระบบจัดเก็บค่าโดยสารใหม่ทั้งหมดอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น