xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรอีสานปรับแผนเพาะปลูก ใช้อ้อยแทนข้าวในพื้นที่จัดรูปที่ดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เกษตรกรอีสานปรับแผนปลูกอ้อยแทนข้าวในพื้นที่จัดรูปที่ดิน เผยเป็นผลจากปริมาณน้ำต้นทุนในฤดูแล้งไม่พอ รวมทั้งราคาอ้อยจูงใจปลูกมากกว่าข้าว ระบุอัตราการถือครองที่ดินเฉลี่ยของเกษตรกรภาคอีสานก็ลดต่ำลง

นางสาวลักษณีย์ งามสม หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผล สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการสำรวจพื้นที่โครงการจัดรูปที่ดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางแห่ง เช่น จ.อุดรธานี พบว่าเกษตรกรเริ่มเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช จากข้าวไปเป็นอ้อยเพิ่มขึ้นอย่างหนาตา และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงช่วงฤดูแล้งมีจำกัด ทำให้การเพาะปลูกข้าว ซึ่งเป็นพืชต้องการน้ำมากประสบปัญหาผลผลิตค่อนข้างต่ำ ในขณะที่อ้อยต้องการน้ำน้อยกว่า สามารถให้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจมากกว่า 15 ตัน/ไร่

นอกจากนั้น ราคาอ้อยในปัจจุบันก็จูงใจเกษตรกรปลูกมากกว่าข้าว และ จ.อุดรธานีเองก็มีโรงงานน้ำตาลรองรับผลผลิตอ้อยจากเกษตรกรอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาด้านการตลาด

“เป็นทิศทางที่สอดรับกับนโยบายการกำหนดพื้นที่เหมาะสมทำการเกษตร หรือโซนนิ่งของรัฐบาล และแม้ว่าอ้อยจะลงทุนสูงในช่วงปีแรก แต่ลงทุนครั้งเดียวตัดได้ 3 ตอ หรือ 3 ปีเป็นอย่างน้อย เกษตรกรเองก็เห็นตัวอย่างการปลูกอ้อยในพื้นที่ใกล้เคียงอยู่แล้วจึงกล้าลงทุน”

อย่างไรก็ตาม แม้จะหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่น เกษตรกรอีสานก็ยังกันพื้นที่บางส่วนไว้สำหรับปลูกข้าวไว้บริโภคภายในครอบครัว

นางสาวลักษณีย์กล่าวอีกว่า อัตราการถือครองที่ดินเฉลี่ยต่อครอบครัวของเกษตรกรอีสานในระยะหลังลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน เนื่องจากต้องแบ่งให้ลูกหลานทำกิน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการถือครองที่ดินเฉลี่ยของประเทศ

“แต่ก่อนอีสานได้ชื่อว่าเป็นภาคที่มีอัตราการถือครองเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่นๆ แต่พอแบ่งให้ลูกๆ เป็นชั้นๆ เรื่อยมา อัตราการถือครองจึงเหลือน้อยลงมาก ในอนาคตอาจต้องรวมพื้นที่ทำการเกษตรมากกว่าทำกันแบบโดดๆ เหมือนปัจจุบัน เพราะคนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรในพื้นที่น้อยลงทุกปี”
กำลังโหลดความคิดเห็น