xs
xsm
sm
md
lg

“นันทวัลย์” ทำแผนกู้ส่งออก เน้นเจาะขายสินค้ารายตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“นันทวัลย์” ทำแผนผลักดันยอดส่งออก เตรียมรุกเจาะเป็นรายตลาด เน้นญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย อาเซียน และเพื่อนบ้าน พร้อมส่งเสริมใช้อี-คอมเมิร์ซเข้ามาช่วยสร้างโอกาสทางการค้า

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะผลักดันการส่งออกสินค้าไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยจะเน้นการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ อาเซียน จีน ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา รัสเซีย และ CIS และแอฟริกา ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการรักษาตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (อียู) เพราะจากการหารือร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) หลายๆ ประเทศก็ยังยืนยันว่าการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และมีโอกาส แม้ว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าในภาพรวมจะอยู่ในภาวะชะลอตัว

“จะเน้นการผลักดันการส่งออกโฟกัสเป็นรายตลาด และรายสินค้าให้มากขึ้น เพราะบางตลาดแม้เศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัว แต่กำลังซื้อของบางกลุ่ม หรือบางสินค้าก็มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งหากทำแผนและจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เหมาะสมกับตลาดหรือส่งเสริมเป็นรายสินค้าก็จะทำให้ส่งออกได้เพิ่มขึ้น”

นางนันทวัลย์กล่าวว่า ในการผลักดันการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น กรมฯ มองว่า แม้การส่งออกไปญี่ปุ่นในปี 2557 จะลดลง แต่ญี่ปุ่นก็ยังนำเข้าสินค้าจากไทยในปริมาณที่มากกว่าประเทศอื่น แสดงให้เห็นว่าสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการ และประเมินว่าหลายๆ สินค้ายังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ก่อสร้าง อาหาร สิ่งทอ โดยกรมฯ จะมุ่งเน้นการเจาะตลาดแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอายุ 20-64 ปี เน้นสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และเสื้อผ้า ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น จะเน้นส่งเสริมสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ผลจากการที่ญี่ปุ่นได้อนุญาตให้นำเข้าไก่จากไทยจะช่วยให้ยอดส่งออกไก่สดแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มมากขึ้น และกรมฯ เองจะมีการจัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเจรจาจับคู่กับนักธุรกิจญี่ปุ่นที่โอซากา ในช่วงเดือน ก.ค. 2558 เพื่อผลักดันการส่งออกด้วย

สำหรับตลาดจีน แม้จีนจะปรับลดเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงมาเหลือ 7% และลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แต่กรมฯ ยังมั่นใจว่าจะผลักดันการส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น โดยจะเน้นการเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ในเมืองรองที่กำลังพัฒนา รวมทั้งจะเจาะตลาดผ่านห้างสรรพสินค้า การขายผ่านออนไลน์ และจะเพิ่มการรู้จักสินค้าไทย โดยนำดาราไทยไปเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าอาหารและธุรกิจบริการในจีนเพิ่มมากขึ้น

ตลาดเกาหลีใต้พบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวเล็กน้อย แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจโดยปรับลดดอกเบี้ย ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น และจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ที่เกาหลีต้องนำเข้าประมาณ 60% ของการบริโภคทั้งปี โดยเฉพาะน้ำตาลจะส่งออกได้มากขึ้น และไก่ ที่ก่อนหน้านี้ถูกระงับการนำเข้าตั้งแต่ปี 2547 ก็จะส่งออกได้มากขึ้น หลังจากที่ได้เปิดตลาด ส่วนสินค้าแฟชั่นก็มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากที่กรมฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลีใต้มาช่วยพัฒนาสินค้าไทย

ตลาดอินเดีย กรมฯ ได้เน้นการเพิ่มความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา รมว.พาณิชย์ได้นำคณะไปเยือนมุมไบ นิวเดลี เพื่อเจรจาขายสินค้า และเพิ่มความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนมาแล้ว และจากนี้ไปจะเน้นการเจาะและขยายตลาดเข้าสู่เมืองรองที่ไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยเพื่อผลักดันให้มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มการเชื่อมต่อเส้นทางลอจิสติกส์ ทั้งทางอากาศ ทะเล และทางบก เพื่อผลักดันธุรกิจไทยที่ทำธุรกิจอยู่ในพม่าให้ขยายตลาดเข้าสู่อินเดีย และบังกลาเทศให้มากขึ้น

ส่วนตลาดอาเซียน กรมฯ จะเน้นการรักษาตลาดและเพิ่มส่วนแบ่งในอาเซียนเดิมให้มากขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้แก่สินค้าไทย และจะเน้นการใช้ธุรกิจรายใหญ่ เช่น ซีพี เซ็นทรัล ปูนซิเมนต์ไทย และไทยเบฟ นำธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เข้าไปเจาะตลาดให้ได้มากขึ้น ขณะที่อาเซียนใหม่ จะเน้นการขยายฐานการผลิตและส่งเสริมให้สินค้าไทยเข้าไปลงทุน เช่น พม่า ลงทุนตั้งโรงไฟฟ้า โรงพยาบาล กัมพูชา ลงทุนโรงสีข้าว ลาว ลงทุนโรงพยาบาล และโรงไฟฟ้า เวียดนาม เปิดเส้นบินนกแอร์ และเปิดสำนักงานตัวแทนมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

นางนันทวัลย์กล่าวว่า กรมฯ ยังจะช่วยผู้ส่งออกเพิ่มช่องทางการขาย โดยส่งเสริมให้ใช้อี-คอมเมิร์ซในการขายสินค้าเจาะเข้าสู่ตลาดต่างๆ โดยกรมฯ ได้พัฒนาเว็บไซต์ไทยเทรดดอทคอม ซึ่งล่าสุดมีผู้เข้าใช้บริการแล้ว 23,842 ราย เป็นผู้ใช้ในประเทศ 25.71% และต่างประเทศ 74.29% และจะเน้นการเพิ่มกิจกรรมโรดโชว์ไปยังประเทศต่างๆ นำคณะโดย รมว.พาณิชย์

นอกจากนี้ จะเร่งแก้ไขปัญหาการส่งออก เช่น ปัญหาศุลกากร ลอจิสติกส์ กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งการร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานทาส ในอุตสาหกรรมประมง และสิ่งทอ โดยจะมีการหารือร่วมกับภาคเอกชน โดยมี รมว.พาณิชย์เป็นประธานในวันที่ 21 เม.ย.นี้ ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมประเด็นปัญหาต่างๆ เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาการส่งออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาสั่งการให้แก้ไขต่อไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น