“ประจิน” ชี้จีนเข้าใจสถานการณ์ ICAO ยันไม่แบนสายการบินสัญชาติไทยแน่นอน หลังคณะ บพ.ไปชี้แจง พร้อมเซ็นตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการเพิ่ม 1 ชุด มีผู้เชี่ยวชาญด้านตรวจและออก AOC จากแอร์ไลน์ร่วม มุ่งปลดล็อก SSC
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่คณะผู้แทนกรมการบินพลเรือน (บพ.) ได้เดินทางไปประเทศจีนเพื่อหารือถึงการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Programme : USOAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งทางจีนเข้าใจสถานการณ์ของไทย และให้โอกาสไทยในการดำเนินการแก้ไขตามขั้นตอน โดยจีนยืนยันว่าจะไม่มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับสายการบินสัญชาติไทยทั้งสิ้น โดยยังคงทำการบินเข้าออกได้ตามปกติ ส่วนกรณีที่จีนมีการให้ชะลอหรืองดเพิ่มเที่ยวบินในช่วงนี้ เนื่องจากเที่ยวบินเข้าออกจีนมีความคับคั่งมากและขอให้ระงับนั้นเป็นคนละมาตรการกับเรื่อง ICAO ดังนั้นช่วงนี้ไม่ต้องกังวลเส้นทางบินไปจีนไม่มีผลกระทบ
โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะผู้แทน บพ.เพิ่มอีก 1 ชุด รวมเป็น 2 ชุด เพื่อช่วยกันเดินทางไปชี้แจงยังประเทศต่างๆ โดยหลังสงกรานต์จะเดินทางไปประเทศสิงคโปร์, มอนทรีออล ประเทศแคนนาดา เพื่อพบกับประธาน ICAO, เยอรมนี และออสเตรเลีย เพื่อเร่งทำงานให้ทันกับเวลา
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ตนได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มอีก 1 ชุด คือ คณะอนุกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหา มีนายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และมีเจ้าหน้าที่เทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจเพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) และช่วยเหลืองาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสายการบิน เช่น การบินไทย นกแอร์ และบางกอกแอร์เวย์สเข้ามาร่วมเป็นกรรมการในชุดนี้
ส่วนกรรมการ 2 ชุดที่ตั้งไปก่อนหน้านี้ คือ 1. คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือนขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ 2. คณะกรรมการดำเนินงานฯ มีนายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน
นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้สรุปแผนการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plan : CAP) เบื้องต้นเพื่อทยอยส่งให้ ICAO แล้ว ซึ่งประเด็นที่ ICAO ให้ความสำคัญที่เป็นข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) คือ 1. กระบวนการออกใบอนุญาตรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ และการออกข้อกำหนดการปฏิบัติการที่ยังไม่ได้มาตรฐาน และ 2. การออกใบรับรองการขนส่งสินค้าอันตรายซึ่งได้ใช้แนวทางของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป หรือเอียซ่า (EASA) มาดำเนินการ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถปลดล็อก SSC ได้