xs
xsm
sm
md
lg

โครงการมหัศจรรย์ไม้เมืองหนาว The Miracle of Natural Gas

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


งานมหัศจรรย์ไม้เมืองหนาวครั้งที่ 5 : ทิวลิปบานที่ระยอง

ในปี 2558 นี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา และเนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยองและสวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท. จึงจะจัด งานมหัศจรรย์ไม้เมืองหนาวครั้งที่ 5 : ทิวลิปบานที่ระยอง ในระหว่างวันพุธที่ 8-ศุกร์ที่ 17 เมษายน 2558 ณ สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อแสดงศักยภาพของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท. ในการนำฐานทรัพยากรมาสร้างฐานองค์ความรู้ ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยและคนไทย ตลอดการดำเนินงาน 30 ปีที่ผ่านมา

โดยในงานจะประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรกคือ โซนนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ การใช้ประโยชน์จากพลังงานความเย็นและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในการปลูกไม้เมืองหนาวในจังหวัดระยอง ส่วนที่สอง ผู้ร่วมงานจะได้สัมผัสกับดอกไม้เมืองหนาวหลากหลายชนิด เช่น ดอกทิวลิปหลากหลายสีสัน ดอกลิลลี ดอกอะมารีลิส ดอกแกลดิโอลัส รวมทั้งสตรอเบอร์รีจากญี่ปุ่นและพันธุ์พระราชทาน 80 ในพื้นที่ส่วนจัดงาน 3 ส่วนหลัก ในแนวคิด The Miracle of Natural Gas : A Time of Miracle

ส่วนที่หนึ่ง นำเสนอ 3 มิติแห่งกาลเวลา 3 ห้วงเวลาของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ นั่นคือ จุดกำเนิดของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ คุณค่านานัปการจากการแยกก๊าซธรรมชาติ นวัตกรรมและโครงการพัฒนาพลังงานความเย็นในอนาคต ผ่านอุโมงค์แห่งกาลเวลาเพื่อชม 3 มิติของการพัฒนาด้านพลังงานที่ไม่หยุดนิ่งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ด้วยการนำเสนอเป็นลักษณะหนังกลางแปลง

ส่วนที่สอง เป็นการนำความสวยงามของดอกไม้เมืองหนาวที่เป็นผลผลิตจากโครงการฯ มาเป็นตัวเชื่อมโยงช่วงเวลาอันน่าประทับใจ ที่ไม่ว่าจะเป็นห้วงเวลาในยุคอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยไปกี่ยุคกี่สมัย ความสวยงามของดอกไม้เมืองหนาวและธรรมชาติก็ยังคงอยู่ผ่านการจัดสวนทั้ง 6 รูปแบบ ได้แก่ Princess Garden สวนดอกไม้เฉลิมพระเกียรติ, Tulips Field สวนดอกไม้ในต่างประเทศ, Eco-friendly of Winter Plants สวนรักษ์สิ่งแวดล้อม, Purple Tunnel สวนเชิงประยุกต์, Spider Garden สวนไม้เมืองหนาวแบบห้อย และ Atomia Garden สวนแห่งอนาคต บนพื้นที่ขนาด 1,200 ตารางเมตร

ส่วนที่สามคือ การออกร้านขายของชุมชนกว่า 30 ร้านในพื้นที่ จ.ระยอง ด้วยสินค้าหลากหลายประเภท เช่น ของที่ระลึกท้องถิ่น อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งดอกไม้เมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม้ดอก ไม้ประดับท้องถิ่นของจังหวัดระยอง และพันธุ์ไม้หายากหลากหลายประเภท

อนึ่ง รายได้จากการเก็บค่าผ่านประตู ท่านละ 20 บาท โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท. จะบริจาคให้แก่โรงพยาบาลวังจันทร์ โดยไม่หักค่าใช้จ่าย

สิ่งที่ ปตท.ทำในวันนี้ คือการสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยพื้นฐานของความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้คนเพื่อสร้างศักยภาพที่แข็งแกร่งให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อนาคตได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะ ปตท.ตระหนักถึงการพัฒนาที่แท้จริง ซึ่งต้องรักษาดุลยภาพระหว่างการเติบโตของธุรกิจ กับการดำรงอยู่ของสิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขของผู้คน ปตท.จึงถือเป็นภารกิจสำคัญในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสังคมมนุษย์อย่างแท้จริง ทั้งยังขยายผลของแนวคิดให้กว้างไกล พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้สังคม เพื่อโลกที่ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน สร้างความมั่งคงจากฐานทรัพยากร

ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มีภารกิจหลักในการแสวงหาพลังงานให้แก่คนไทยสร้างความมั่นคงในด้านฐานทรัพยากรให้ประเทศ นับจากวันแรกที่มีการนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ประโยชน์สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจของชาติ ปตท.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติดังกล่าวนับเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและบริเวณพื้นที่ซึ่งแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติผ่าน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ

นับเนื่องจากวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2528 ที่ ปตท.ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 1 ณ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการก่อสร้างด้วยงบประมาณ 7,360 ล้านบาท มีความสามารถในการแยกก๊าซธรรมชาติวันละ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อมา ปตท.ได้ก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีก 5 หน่วย ตามปริมาณความต้องการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas : LPG หรือก๊าซหุงต้ม) และก๊าซสำหรับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 จังหวัดระยอง ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2553 ดังนั้น ปตท.จึงมีโรงแยกก๊าซธรรมชาติรวมทั้งสิ้น 6 หน่วย มีความสามารถในการแยกก๊าซธรรมชาติ 2,510 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ในปี 2558 นี้นับว่าเป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 ของโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ซึ่งตลอด 3 ทศวรรษที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติได้อยู่คู่กับคนไทย ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี โดยตลอดปี 2558 คาดว่าจะมีการจ้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในจังหวัดระยองกว่า 113 ล้านบาท สร้างรายได้ในส่วนของกิจกรรมต่างๆ ที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติดำเนินการร่วมกับชุมชนในพื้นที่ระยอง รวมไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อปี และช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการที่ไทยสามารถใช้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศแทนการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าเป็นมูลค่าเกือบ 3 แสนล้านบาทต่อปี โรงแยกก๊าซธรรมชาติทั้ง 6 หน่วยมีหน้าที่สำคัญในการแยกส่วนประกอบของสารไฮโดรคาร์บอนที่มีคุณค่าออกมาก่อนส่งไปใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้แยกส่วนประกอบของสารไฮโดรคาร์บอนมาใช้ประโยชน์ได้แก่ มีเทน มีประโยชน์คือ

- ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า และให้ความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรม
- ใช้เป็นเชื้อเพลิงยานพาหนะ
- ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเคมี

อีเทนมีประโยชน์คือ
- ใช้ผลิตเอทิลีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำหรับเม็ดพลาสติก โพลีเอทิลีน (PE) เพื่อใช้ผลิตถุงพลาสติก หลอดยาสีฟัน ขวดพลาสติกใส่แชมพู และเส้นใยพลาสติกชนิดต่างๆ

โพรเพนมีประโยชน์คือ
- ใช้ผลิตโพรพิลีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติก โพลีโพรพิลีน (PP) เช่น ยางในห้องเครื่องรถยนต์ หม้อแบตเตอรี่ กาว สารเพิ่มคุณภาพน้ำมันเครื่อง
- ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม

บิวเทนมีประโยชน์คือ
- ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
- นำมาผสมกับโพรเพนเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ก๊าซหุงต้ม)

ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) มีประโยชน์คือ
- เป็นเชื้อเพลิงหรือก๊าซหุงต้มในครัวเรือน และเชื้อเพลิงในรถยนต์
- เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ
- ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเช่นเดียวกับก๊าซอีเทน และก๊าซโพรเพน

ก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) มีประโยชน์คือ
- ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมตัวทำละลาย
- ใช้ผสมเป็นน้ำมันเบนซินสำเร็จรูป
- ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเคมี

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีประโยชน์คือ
- ใช้ในอุตสาหกรรมหล่อเหล็ก อุตสาหกรรมถนอมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม
- ใช้ทำน้ำยาดับเพลิง ฝนเทียม ฯลฯ

ต่อยอดสู่องค์ความรู้ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

สืบเนื่องจากกลยุทธ์ TAGNOC หรือ Technologically Advanced and Green National Oil Company ซึ่งกลุ่ม ปตท.ยึดถือร่วมกันในการดำเนินธุรกิจนับเป็นจุดเปลี่ยนของบริษัทพลังงานไทย สู่ธุรกิจพลังงานยุคใหม่และโลกสีเขียวที่ยั่งยืน กอปรกับในปี 2554 ที่ไทยต้องเริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีต้นทุนที่สูงขึ้น ปตท.จึงได้นำ “พลังความเย็น” ที่เหลือจากกระบวนการเปลี่ยนสถานะ โดยพลังงานความเย็นที่ใช้ในการ Regasification ที่กำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปีมีค่าเท่ากับพลังงานความเย็นของเครื่องปรับอากาศในบ้านถึง 6,000 เครื่อง

ด้วยการลดอุณหภูมิก๊าซธรรมชาติให้มีอุณหภูมิต่ำถึง -160 องศา ทำให้ก๊าซฯ เปลี่ยนสถานะจากก๊าซเป็นของเหลวเพื่อความสะดวกในการขนส่งก๊าซฯ ได้ปริมาณมากในระยะทางไกล และเมื่อจะนำก๊าซฯ มาใช้งานต้องนำ LNG มาเพิ่มอุณหภูมิเพื่อให้ LNG กลับมาอยู่ในสถานะก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยองจึงมีแนวคิดจัดทำ “โครงการการใช้ความเย็นและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการวิจัยไม้เมืองหนาว ตามโครงการในพระราชดำริฯ” เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

โครงการวิจัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานความเย็น

ปี 2555 ปตท.ได้เริ่มดำเนินการ โครงการการใช้ความเย็นและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการวิจัยไม้เมืองหนาว ตามโครงการในพระราชดำริฯ ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยทดลองปลูกต้นลิลลีและทิวลิปในโรงเรือนประหยัดพลังงานต้นแบบที่พัฒนาขึ้น โดยใช้พลังงานความเย็นจากก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งได้ทดลองนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ส่วนที่เหลือจากกระบวนการแยกก๊าซฯ มาช่วยเร่งการเจริญเติบโตของต้นลิลลี และทิวลิป

นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดงานวิจัยศึกษาการเพาะกล้าไม้เมืองหนาวเพื่อให้สามารถสร้างผลผลิต และสามารถขยายพันธุ์ได้เอง โดยไม่ต้องนำเข้าพันธุ์จากต่างประเทศส่งเสริมให้เกิดอาชีพและสร้างรายได้ โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และศูนย์บ้านไร่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งผลสำเร็จของโครงการทำให้สามารถปลูกต้นทิวลิปและลิลลีที่มีความแข็งแรง ออกดอกอย่างสวยงามได้ทุกฤดูกาล โดยสามารถเพิ่มผลผลิตและอัตราการเจริญเติบโตได้สูงกว่าปกติ มากกว่า 12% อีกทั้งยังสามารถนำหัวพันธุ์ทิวลิปและลิลลีที่ให้ดอกแล้วไปสร้างตาดอกใหม่ เพื่อขยายพันธุ์และเพาะปลูกในรอบถัดไปได้

โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บและเคลื่อนย้ายความเย็น

ตั้งแต่ปี 2556 ปตท.ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยโดยนำระบบ TES (Thermal Energy Storage) จากเครื่องทำความเย็นแบบ Chiller ทั่วไปมาออกแบบ และพัฒนาให้สามารถกักเก็บพลังงานความเย็นจากก๊าซ LNG เพื่อให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุด รวมทั้งศึกษาการพัฒนาอุปกรณ์กักเก็บความเย็นแบบเคลื่อนที่ได้ เพื่อนำไปใช้ทำความเย็นให้กับระบบปรับอากาศและระบบอื่นๆ ในพื้นที่ห่างไกลจากแหล่งผลิต โดยได้ทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

สรุปรูปแบบการศึกษาวิจัยในโครงการ
1. ทดลองผลิตความเย็น ด้วยการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยผ่านระบบ Gas Absorption Chiller และส่งความเย็นเข้าไปในโรงเรือนประหยัดพลังงานต้นแบบ บนแนวคิดการใช้พลังงานน้อยที่สุด เพื่อลดต้นทุนจากการใช้พลังงาน ปัจจุบันมีการใช้งานเป็นต้นแบบอยู่ที่สวนสมุนไพรฯ

2. นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากการนำไปผลิตน้ำแข็งแห้งเพื่อทำฝนเทียมและใช้ในอุตสาหกรรมถนอมอาหาร มาช่วยเร่งการเจริญเติบโตของต้นลิลลีและทิวลิปที่ปลูกในโรงเรือนประหยัดพลังงานต้นแบบ

3. ศึกษาพัฒนาระบบกักเก็บและเคลื่อนย้ายความเย็นเพื่อให้สามารถเก็บความเย็นที่เหลือจากกระบวนการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้กลายเป็นสถานะก๊าซ และสามารถเคลื่อนย้ายไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใดก็ได้

4. ศึกษาพัฒนาความเป็นไปได้ (Feasibility) ของระบบพลังงานความเย็นจากก๊าซธรรมชาติ เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

สร้างความมั่งคั่งและยั่งยืนให้แก่คนไทย

โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท. นอกจากจะมีภารกิจในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ก๊าซธรรมชาติแล้ว ยังช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันดิบลดต้นทุนวัตถุดิบทางอุตสาหกรรม ทำให้อุตสาหกรรมขนาดเล็กเกิดขึ้นได้ และมีโอกาสเติบโตพัฒนาต่อไปในอนาคต ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาด้านพลังงานจากต่างประเทศ และสามารถผลิตวัตถุดิบพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมย่อยหลายชนิด เป็นการประกันการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติ และส่งผลให้เกิดความมั่นคงด้านอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น เกิดการจ้างแรงงานในท้องถิ่น ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้และลดการย้ายถิ่นฐานของประชาชนในการเข้ามาทำงานในเมือง

นอกจากนั้น การที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท.นำพลังงานความเย็นที่เหลือใช้ในกระบวนการแปรสภาพก๊าซ LNG กลับมาสร้างประโยชน์ให้แก่ภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและความก้าวหน้าในเทคโนโลยีด้านการเกษตร สร้างองค์ความรู้ต้นแบบให้เกษตรกรและผู้สนใจในประเทศได้นำไปศึกษาต่อยอด เป็นแนวทางสู่การสร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่เกษตรกรและผู้สนใจในการปลูกและขยายพันธุ์ไม้เมืองหนาวซึ่งมีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดได้ประโยชน์เหล่านี้ คือความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนทางพลังงาน ที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท.ยึดมั่นเป็นภารกิจหลักตลอดการดำเนินงาน 30 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าในทุกๆ ด้านให้แก่คนไทย และประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น