xs
xsm
sm
md
lg

“สหพัฒน์” ย้ำเศรษฐกิจยังทรุด ผนึกญี่ปุ่นลุยอีคอมเมิร์ซ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เสี่ยบุณยสิทธิ์” ชี้เศรษฐกิจทรงตัว ฉุดกำลังซื้อครึ่งปีแรกยังไม่ฟื้น มองหาตัวเลือกกระตุ้นรายได้ ล่าสุดจับมือ ทรานสคอสมอส ลุยอีคอมเมิร์ซเต็มกำลัง หวัง 5 ปีปลุกรายได้ออนไลน์ได้ 5%

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้นรวมทั้งการที่ภาคนโยบายได้มีการปรับลดค่าจีดีพีลงมา ขณะที่ในแง่ของกำลังซื้อของผู้บริโภคก็พบว่ายังไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวในช่วงเร็วๆ นี้ ทั้งในไตรมาสแรกที่ผ่านมาไปจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งอาจจะลากยาวไปถึงช่วงสงกรานต์นี้ก็เช่นกันเชื่อว่าจะยังคงเงียบอยู่จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่กระเตื้อง

ล่าสุดในส่วนของสหพัฒน์ได้จับมือกับทางบริษัท ทรานสคอสมอส ประเทศไทย จำกัด ด้วยการเข้ามาถือหุ้น 30% และทางญี่ปุ่น 70% ในการรุกตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย ซึ่งมองว่าจะเป็นช่องทางการขายที่มีโอกาสเติบโตสูงมากในอนาคต 'ทรานสคอสมอส เป็นบริษัทที่ดำเนินการด้านอีคอมเมิร์ซแบบนอนสตอปเซอร์วิสระหว่างประเทศในประเทศไทยมากกว่า 6 ปี ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทย

การที่สหพัฒน์เข้ามาร่วมทุนครั้งนี้เพื่อต้องการให้ทางทรานสคอสมอสเติบโตในไทยได้เร็วขึ้น ที่สำคัญทำให้ช่องทางขายอีคอมเมิร์ซของสหพัฒน์เติบโตได้เร็วขึ้นเช่นกัน โดยหลังจากนี้ทางสหพัฒน์จะนำเอาบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซทั้งหมดมาทำงานร่วมกับทีมงานของทรานสคอสมอสเพื่อทำให้เป็นหน่วยงานเดียวกันต่อไป

นายบุณยสิทธิ์กล่าวต่อว่า ช่องทางอีคอมเมิร์ซถือเป็นช่องทางขายที่มีศักยภาพในช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว เป็นโอกาสที่จะช่วยให้มีการเติบโตและเพิ่มยอดขายได้ เนื่องจากทางสหพัฒน์จะใช้ช่องทางนี้นำเสนอสินค้าในเครือทั้งหมดในราคาระดับกลางราคาถูกกว่าหน้าร้าน เจาะกลุ่มวัยรุ่น เบื้องต้นจะเป็นสินค้าในกลุ่มไอซีซีทั้งหมดและเป็นกลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์เป็นหลัก เชื่อว่าภายใน 5 ปีจะผลักดันให้ยอดขายในกลุ่มอีคอมเมิร์ซทั้งหมดอยู่ที่ 5% ของรายได้รวมสหพัฒน์ จากปัจจุบันยังน้อยกว่า 5%

ด้านนายฮิโรกิ ทานิกาว่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรานสคอสมอส ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การทำงานในไทยของบริษัทจะมีอยู่ 3 ส่วนหลัก คือ 1. คอนแทกต์เซ็นเตอร์ 2. ดิจิตอลมาร์เกตติ้ง และ 3. บิสิเนสโปรเซสเอาต์ซอร์สซิ่ง โดยมองว่าดิจิตอลมาร์เกตติ้ง หรืออีคอมเมิร์ซ จะเป็นบริการหลักที่จะทำรายได้มากสุดไม่ต่ำกว่า 50% จากกระแสการเข้าถึงและหันมาซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นที่มาทำตลาดในไทย แต่หลังจากจับมือกับสหพัฒน์แล้วเชื่อว่าจะมีลูกค้าไทยมากกว่าในอนาคต ส่วนในแง่รายได้นั้น ปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 170 ล้านบาท เติบโต 70% จากปีก่อนทำได้ 100 ล้านบาท และภายในปี 2562 จะเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทให้ได้




กำลังโหลดความคิดเห็น