xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงฯ ชี้เกณฑ์เปิดสัมปทานรอบ 21 ยึดหลักวิชาการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแจงรายละเอียดยืนยันหลักเกณฑ์การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ใช้หลักวิชาการ คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ย้ำกรณีประเมินแปลงอ่าวไทยอาจมีทรัพยากรถึง 6.2 แสนล้านบาทนั้นเป็นเพียงข้อมูลทางธรณีวิทยาที่มีอยู่ หากจะทราบข้อเท็จจริงก็ต่อเมื่อค้นพบ พัฒนา และผลิตมาจำหน่ายแล้วเท่านั้น

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ได้นำเสนอข้อมูลการโพสต์ข้อความของคุณปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เผยแพร่ต่อสาธารณชน เกี่ยวกับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 นั้น มีข้อมูลที่ยังมีความคลาดเคลื่อนและไม่ได้อ้างอิงข้อมูลทางด้านวิชาการอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวตามหลักวิชาการที่สามารถอ้างอิงได้อย่างถูกต้อง จึงขอชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

1. การที่ประเมินว่าหากมีการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 สำหรับแปลงในอ่าวไทย อาจมีปริมาณทรัพยากรถึง 6.2 แสนล้านบาทนั้น เป็นเพียงข้อมูลธรณีวิทยาที่มีอยู่ และเป็นการคาดการณ์เบื้องต้นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการขุดเจาะจึงจะสามารถทราบมูลค่าที่แท้จริง เพราะมูลค่าปิโตรเลียมจะเกิดได้ต่อเมื่อมีการค้นพบ พัฒนา ผลิต และจำหน่ายเท่านั้น

2. แม้รัฐจะมีข้อมูลจากการสำรวจธรณีฟิสิกส์ทั้งแบบ 2D หรือ 3D หรือข้อมูลหลุมเจาะสำรวจในบางแปลง ก็เป็นเพียงการบ่งบอกว่าบริเวณนั้นพบ หรือไม่พบปิโตรเลียม ไม่ได้หมายความว่าการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในแปลงที่สำรวจพบปิโตรเลียมนั้นจะไม่มีความเสี่ยงใดๆ ยังมีกิจกรรมการสำรวจที่จำเป็นต้องดำเนินการอีก คือ การลงทุนเจาะสำรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันปริมาณสำรอง ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงในการพัฒนาว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพราะหากสำรวจพบแหล่งเล็ก การลงทุนในการสร้างกระบวนการผลิตหรือติดตั้งอุปกรณ์การผลิตต่างๆ ก็อาจไม่คุ้มค่า

3. เงินให้เปล่าในการลงนาม หรือ Signature Bonus เป็นเงินเพิ่มเติม ที่กำหนดเพิ่มขึ้นมาในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ซึ่งการกำหนดดังกล่าวเป็นเพียงขั้นต่ำ โดยคำนึงถึงศักยภาพปิโตรเลียมของพื้นที่ที่กำหนดเป็นแปลงสัมปทาน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะมายื่นขอในแปลงที่กำหนดสามารถยื่นข้อเสนอให้สูงกว่าได้ เพราะจะต้องแข่งขันกันประมูลในแปลงที่ต้องการ (ไม่ได้แตกต่างกันทั้งในระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิต) และการจัดเก็บดังกล่าวเป็นการดำเนินการก่อนทั้งที่บริษัทยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยซ้ำว่าจะสามารถพัฒนาแหล่ง และผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาขายจริง ดังนั้น ค่า Signature Bonus จึงไม่สามารถนำไปเทียบได้ว่าสอดคล้องกับมูลค่าปิโตรเลียมหรือไม่ โดยนำตัวเลขการประมาณการทรัพยากรมาคำนวณได้ เพราะมูลค่าปิโตรเลียมจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการขายปิโตรเลียมที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น

4. การเปิดสัมปทานปิโตรเลียม 3 รอบที่ผ่านมา (รอบที่ 18-รอบที่ 20) กำหนดให้ค่าคงที่แสดงสภาพทางธรณีวิทยา (K) เท่ากับ 600,000 เมตร และค่าลดหย่อนพิเศษ (SR) ร้อยละ 35 เมื่อพิจารณาจากอัตราความสำเร็จของการสำรวจของทั้ง 3 รอบถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น เพื่อเป็นการจูงใจบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้มาลงทุนในประเทศไทย จึงกำหนดค่าคงที่แสดงสภาพทางธรณีวิทยา (K) และค่าลดหย่อนพิเศษ (SR) ไว้เหมือนเดิม ซึ่งการกำหนดค่าดังกล่าวได้มีการศึกษาข้อมูลทางธรณีวิทยา ข้อมูลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทยที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยคำนึงถึงสภาพทางธรณีวิทยา สภาพทางภูมิศาสตร์ สถิติค่าใช้จ่ายในการสำรวจและพัฒนา สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตลอดจนสภาวะการแข่งขันในการลงทุนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และของโลก โดยมีเป้าหมายหลักคือ การเร่งรัดการสำรวจเพื่อค้นพบและเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้มากยิ่งขึ้น และเพื่อสนับสนุนให้มีการผลิตและใช้ประโยชน์ทรัพยากรปิโตรเลียมภายในประเทศให้ได้มากที่สุดเพื่อลดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าปิโตรเลียม
​ผลการดำเนินงานจากการเปิดสัมปทานใน 3 รอบที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นชัดแล้วว่าแม้จะกำหนดค่า K ไว้สูงถึง 600,000 เมตร ก็ยังไม่สามารถส่งผลหรือเป็นปัจจัยจูงใจให้มีการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด เนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมที่พบส่วนใหญ่เป็นเพียงแหล่งขนาดเล็ก และไม่เข้าข่ายต้องเสียเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่ต้องคิดคำนวณโดยใช้ค่าคงที่ดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น