สภาองค์การนายจ้างคาดแนวโน้มการจ้างแรงงานเพิ่มในระบบยังคงนิ่งรักษาอัตราเดิมไว้ไปจนถึงกลางปีเพื่อรอดูทิศทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก คาดหากงบลงทุนรัฐเริ่มชัดเจนครึ่งปีหลังสัญญาณจะกลับมาฟื้นตัวแน่ กังวลบัณฑิตจบใหม่สายสังคมหากเลือกงานส่อแววเตะฝุ่นเพิ่มเหตุล้นระบบ ขณะที่สายอาชีวะยังคงขาดแคลน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มครึ่งปีแรกภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ลงทุนอยู่เดิมยังคงระดับอัตราการจ้างงานไว้โดยหากจะรับเพิ่มจะเป็นการทดแทนแรงงานเก่าที่ขาดไปเท่านั้นเนื่องจากส่วนหนึ่งได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยการหันไปใช้เครื่องจักรในกระบวนการผลิตมากขึ้นและอีกส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่แรงซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร
“จากภาวะการส่งออกที่ชะลอตัว และประกอบกับแรงซื้อในประเทศยังไม่ดีนักทำให้การขยายการลงทุนใหม่ยังชะลอตัวการจ้างงานใหม่ๆ โดยส่วนหนึ่งกำลังติดตามมาตรการเบิกจ่ายงบลงทุนและงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ จึงเชื่อว่าการลงทุนซึ่งจะตามมาด้วยการจ้างงานในระบบเพิ่มจะเห็นสัญญาชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง”นายธนิตกล่าว
สำหรับภาวะการว่างงานของคนไทยในเดือนม.ค. 58 พบว่ามีจำนวน 4.04 แสนคนคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.1%ของกำลังแรงงานรวมซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 4.3 หมื่นคน อย่างไรก็ตามหากพิจารณารายละเอียดจะพบว่าไทยนั้นมีทั้งอัตราการว่างงานและขาดแคลนแรงงานประกอบกันไปโดยในส่วนของแรงงานไร้ฝีมือนั้นจะพบว่าอัตราการว่างงานเป็นศูนย์เพราะต้องนำเข้าแรงงานจากต่างด้าวมาสนับสนุนแล้วถึง 3 ล้านคนเนื่องจากคนไทยเลือกที่จะไม่ทำงานระดับล่างดังกล่าว
ทั้งนี้อัตราการว่างงานจะไปกระจุกตัวในแรงงานระดับกลางซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่จบระดับอุดมศึกษาที่มาจากสายสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ซึ่งมีการผลิตแรงงานส่วนนี้เข้ามาเกินความต้องการของตลาดแรงงานในไทยโดยสิ่งที่น่ากังวลคือเด็กจบใหม่ในสายนี้ที่จะมีเข้ามาเพิ่มอีกในปีนี้ประมาณ 3- 5 หมื่นคนเป็นอย่างต่ำจะเสี่ยงภาวะตกงานสูงหากเลือกงาน ขณะที่สายอาชีวะหรือสายวิชาชีพไทยยังคงขาดแคลนแรงงานส่วนนี้รวมไม่น้อยกว่า 1-2 แสนคนในช่วง 1-2 ปีนี้และอนาคตจะขาดแคลนมากยิ่งขึ้นหากธุรกิจมีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น
“ปกติแรงงานของไทยที่ผลิตสายสังคม มนุษย์ศาสตร์ ออกมาก็เกินความต้องการตลาดอยู่แล้วประมาณ 2 แสนคนและสิ่งที่น่ากังวลคือจะมีบัณฑิตจบใหม่อีกช่วงเร็วๆ นี้หากเลือกงานก็จะตกงานเพิ่มอีกแต่ถ้าเป็นสายวิชาชีพก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งอนาคตมีความจำเป็นมากที่ไทยจะต้องเร่งปรับการศึกษาให้สอดรับกับความต้องการแรงงาน”นายธนิตกล่าว