ลุ้น “กนง.” นัดถกชี้ชะตานโยบายดอกเบี้ยพรุ่งนี้ (11 มี.ค.) ภาคการผลิตและส่งออกแนะให้ลดลงมาอย่างน้อย 0.25% หวังสกัดบาทแข็งค่าหลังกระทบส่งออก ขณะที่ “รศ.ดร.สมภพ” นักวิชาการมองต่าง แนะคงไว้ควรเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น ชี้อีก 3 เดือนข้างหน้ามีปัจจัยเสี่ยงกว่าเพียบ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 11 มี.ค.นี้เห็นว่ามีความจำเป็นที่ กนง.ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอย่างต่ำ 0.25% เพื่อดูแลเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะภายหลังที่ธนาคารกลางยุโรปอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือคิวอี ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคมนี้ จำนวน 60,000 ล้านยูโรต่อเดือน ซึ่งอาจทำให้ทิศทางค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้น
“เราเองอยากเห็นการลดลงทันที 0.50% แต่ก็คงเป็นเรื่องลำบากนะ อย่างน้อยลงมา 0.25% ก็ยังดีเพราะภาพรวมเวลานี้คือค่าเงินบาทเราก็ยังแข็งค่าและคิวอียุโรปมาอีก การลดดอกเบี้ยก็จะช่วยผู้ส่งออกและผู้ประกอบการลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่งในยามที่เศรษฐกิจภายในประเทศเองก็ยังไม่ฟื้นตัวนัก” นายสุพันธุ์กล่าว
นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า เห็นว่า กนง.ควรจะลดอัตราดอกเบี้ยลงมา 0.25% เพื่อที่จะเป็นการดูแลเงินไหลเข้าที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งปัจจุบันค่าเงินบาทไทยแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้าทำให้กระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขัน
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยหรือคงไว้คงไม่มีผลอะไรต่อค่าเงินบาทที่จะให้อ่อนค่าลงไปได้มากนักและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ก็ดูแลเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งเห็นว่าการแก้ไขปัญหาภาพรวมจะต้องมองทั้งนโยบายการคลังและการเงินไปพร้อมๆ กันในการกระตุ้นการส่งออกอย่างจริงจัง
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า การประชุม กนง.เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 2% ลงมาเนื่องจากควรจะเก็บมาตรการนี้ไว้ใช้ยามจำเป็นจะดีกว่าโดยเฉพาะในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่จะมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามามากกว่าปัจจุบัน ได้แก่ แนวโน้มสูงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นช่วงกลางปีนี้ ขณะเดียวกัน ส.ค. 58 ไทยก็จะเริ่มดีเดย์มาตรการลดคุ้มครองเงินฝาก
“ผมคิดว่า 2 ปัจจัยข้างต้นจะทำให้โอกาสเงินไหลออกมีสูง แล้วเมื่อ กนง.ลดดอกเบี้ยอีกก็จะยิ่งไล่เงินฝากที่มีอยู่ในระบบไหลออก ซึ่งเงินไหลออกจึงน่ากลัวกว่าเงินไหลเข้าและไทยเองก็จะเสียเงินทุนจำนวนมาก ส่วนกรณีผู้ส่งออกที่ต้องการให้ลดดอกเบี้ยลงมาไม่น่าจะช่วยอะไรได้มากนัก และกรณีที่เกรงว่าคิวอียุโรปจะทำให้เงินไหลเข้าผมเองมองว่าเวลานี้ถ้าไหลเข้าเหตุใดหุ้นเอเชียยังคงไม่ฟื้นตัวเลยแสดงว่ายังไม่แรงพอ” รศ.ดร.สมภพกล่าว