“คมนาคม” ปลื้ม เปิดตัวแอปฯ ร้องบริการแท็กซี่ 10 วัน ประเมินผลมีความพึงพอใจในคุณภาพการให้บริการเฉลี่ย 70% ขณะที่ร้องเรียน ปฏิเสธผู้โดยสารยังมีถึง 23% “อาคม” เผยเร่งปรับปรุงบริการ ส่วนปรับมิเตอร์รอบสองต้องประมวลผลร่วมกับศูนย์ 1584 และข้อมูลภาคสนาม
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลการดำเนินการหลังเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน “DLT Check in” ของกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ว่า ตั้งแต่เปิดตัวแอปพลิเคชันเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2558 พบมีประชาชนโหลดแอปฯ ลงทะเบียนเป็นสมาชิกแล้วกว่า 7,066 ราย เป็นชาวต่างประเทศกว่า 20% โดยมีการเช็กอินเพื่อร่วมประเมินความพึงพอใจการใช้บริการจากทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,245 ราย เฉลี่ยประมาณ 103 รายต่อวัน ซึ่งพบว่า มีผู้แสดงความเห็นจำนวน 262 ราย ซึ่งเป็นการร้องเรียนกรณีความผิดร้ายแรงต้องดำเนินการเร่งด่วน ฐานขู่กรรโชกและไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร 4 ราย ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการลงโทษปรับผู้กระทำความผิดแล้ว นอกนั้นเป็นความผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้ขับขี่ และสภาพตัวรถ โดยส่วนการร้องเรียนกรณีพฤติกรรมผู้ขับขี่ได้แจ้งให้มารายงานตัวแล้ว ส่วนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับสภาพรถได้ส่งเรื่องส่วนตรวจสภาพรถ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ติดตามดำเนินการแก้ไขต่อไป
ทั้งนี้ ได้มีการประเมินความเห็นจาก 6 คำถามหลักแต่ละด้าน ตั้งแต่พอใจมากที่สุด พอใจมาก ปานกลาง และต่ำเกณฑ์ ซึ่งผลการประเมินพบว่ามีความพึงพอใจในการใช้บริการรถแท็กซี่ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์มากถึงมากที่สุด70% มีความพึงพอใจความสะอาดมากที่สุด 42% ส่วนต่ำเกณฑ์มี 13%, สภาพรถโดยรวม พอใจมากที่สุด 36% ต่ำเกณฑ์มี 13%, ความคุ้นเคยในเส้นทางของผู้ขับขี่ พอใจมากที่สุด 50% ต่ำเกณฑ์มี 14%, ความสุภาพของผู้ขับรถแท็กซี่ พอใจ 79% เป็นต้น ซึ่งแท็กซี่ที่ได้รับการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ให้เร่งปรับปรุงคุณภาพการให้บริการโดยเร็ว หากพบการเพิกเฉยหรือไม่ให้ความร่วมมือ กรมการขนส่งทางบกจะมีมาตรการในการลงโทษผู้ขับรถแท็กซี่และผู้ประกอบการอย่างจริงจัง เพื่อให้การยกระดับมาตรฐานคุณภาพการให้บริการด้วยรถแท็กซี่สัมฤทธิผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
“ในภาพรวมน่าพอใจ เพราะจำนวนแท็กซี่จดทะเบียน 1 แสนคัน โดยวิ่งบริการกว่า 8 หมื่นคันนั้น ไม่ได้บริการห่วยทั้งหมด จากผลสำรวจพบว่า กว่า 70% ผ่านเกณฑ์ความพึงพอใจ ที่เหลืออีกกว่า 10% หรือคิดเป็นประมาณ 10,000 กว่าคันยังมีปัญหา ซึ่งความเห็นจากผู้ใช้บริการจะช่วยสนับสนุนให้มีการปรับปรุงแท็กซี่ที่ยังบริการไม่ดี” นายอาคมกล่าว
นายอาคมกล่าวว่า ข้อร้องเรียนนี้จะนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับค่าโดยสารแท็กซี่รอบสอง รวมกับข้อมูลผ่านโทร. 1584 ทั้งสองช่องทางรวมกับการลงภาคสนามของเจ้าหน้าที่ในการเก็บข้อมูล ซึ่งจะเป็นบุคคลที่สามเข้ามาร่วมเก็บข้อมูลซึ่งขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าผลที่บอกว่าผู้โดยสารมีความพึงพอใจบริการ 70% จะใช้ได้ เพราะต้องนำข้อมูลทั้ง 3 ส่วนมาประกอบกัน หากค่าเฉลี่ยออกมาในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกันก็จะนำมาใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาต่อไป
นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ปัญหาที่ร้องเรียนบริการแท็กซี่ เช่น ปฏิเสธผู้โดยสาร 23% ไม่เปิดมิเตอร์ 11% ไม่ปลอดภัย 21% ปัญหามารยาท 13% บริการไม่สะดวก 5% ส่วนที่ชมมีประมาณ 27% ซึ่งกรณีที่กระทบต่อความปลอดภัยนั้นกรมฯ จะดำเนินการเร่งด่วน ทั้งนี้ บทลงโทษกรณีปฏิเสธผู้โดยสารปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือเพิกถอนใบอนุญาตกรณีทำผิดซ้ำ ปัญหามารยาท จัดอบรมจิตสำนึก กรณีบริการไม่สะดวก เรียกตรวจสภาพรถหากไม่ผ่านจะระงับใช้รถ กรณีมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย มีการติดตามภายใน 24 ชม. (กรณีเป็นภัยสังคม) ปรับไม่เกิน 5,000 บาท พักหรือเพิกถอนใบอนุญาตและส่งตำรวจดำเนินคดีอาญา, กรณีไม่ใช้มิเตอร์ หรือทุจริตค่าโดยสาร เรียกรายงานตัวเช็กประวัติและอบรม โดยมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท พักหรือเพิกถอนใบอนุญาตและส่งตำรวจดำเนินคดีอาญา