xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” เร่งผลิตบุคลากรรับการลงทุุนโครงสร้างพื้นฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประจิน” จี้หน่วยงานเร่งหาทางเพิ่มบุคลากรรองรับการพัฒนางานโครงสร้างพื้นฐาน ทช.จับมือ 8 มหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษาร่วมศึกษาวิเคราะห์จัดลำดับโครงการ เพื่อลงทุนได้ตรงความต้องการและคุ้มค่างบประมาณ เผยร่วมผลิตวิศวกรและบุคลากรงานทาง หวังรองรับงานในประเทศและป้อนไปยังอาเซียนด้วย

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยของรัฐ 8 แห่งวันนี้ (23 ก.พ.) ว่าความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้หน่วยงานร่วมกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาและผลิตบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งทุกๆ ด้าน ทั้งโครงข่ายถนน รถไฟฟ้า ท่าเรือ ฯลฯ โดยเร่งด่วน ซึ่งสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับปรุงพัฒนาหลักสูตร และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ จากเอเชียยุโรปและอเมริกาอีกด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายให้ตรงความต้องการของประชาชน ใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาดำเนินการ และเกิดการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า แนวทางความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อนำหลักวิชาการมาวิเคราะห์ในการพัฒนาโครงการทั้งในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังในการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายและจัดทำงบประมาณ เพื่อให้เกิดความถูกต้องแม่นยำและคุ้มค่า ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น โดยต้องยอมรับว่าปัจจุบันปัญหาการบรรทุกน้ำหนักบรรทุกเกินจำเป็นหานวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยแก้ไข หรือการได้มาซึ่งเขตทางในการพัฒนาเส้นทางเพิ่มจำเป็นต้องใช้แนวคิดใหม่

“เมื่อเปิด AEC ปริมาณจราจรจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นถนนสายรองหรือฟีดเดอร์ที่อยู่ในความดูแลของ ทช.จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ในขณะที่ ทช.ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะวิศวกรที่จะช่วยวางแผนงาน การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจะช่วยกันพัฒนาในด้านการวิเคราะห์การลงทุน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและจัดลำดับโครงการได้แม่นยำมากขึ้น โดยมหาวิทยาลัย 8 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กระจายครอบคลุมทั่วทุกภาค ซึ่งจะร่วมมือกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” นายดรุณกล่าว

นายวณิชย์ อ่อนศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ความร่วมมือนี้จะช่วยเพิ่มนักศึกษาฝึกงานในพื้นที่จริงกับ ทช.ปีละประมาณ 900-1,000 คนเป็น 2,000-3,000 คน ครอบคลุมทั้งด้านโยธา สำรวจ ออกแบบ ก่อสร้าง และเครื่องยนต์หนัก ซึ่งจะยิ่งเพิ่มคุณภาพของบุคลากรที่สำเร็จออกไป และสามารถผลิตเพื่อป้อนไปยังประเทศอาเซียนได้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังพัฒนาหลักสูตรของระดับอาชีวศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น