xs
xsm
sm
md
lg

ค้าปลีกปีแพะหวังโต 2 เท่าของจีดีพี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ดร.สุวิทย์ กิ่งแก้ว” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
นายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย ประเมินทิศทางตลาดค้าปลีกไทยปี 58 อาจโต 5-10% เป็น 2 เท่าของจีดีพีประเทศปีนี้ที่ 4% คาดหวังตลาดไปทิศทางที่ดี กำลังซื้อเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี หวั่นปัจจัยลบ หนี้ภาคครัวเรือนกับรายได้เกษตรกรที่ทรงตัว

ดร.สุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้าน “เซเว่นอีเลฟเว่น” ในฐานะนายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย กล่าวในงาน “ส่องเทรนด์เศรษฐกิจ-ธุรกิจค้าปลีกปี 58 ในยุคดิจิตอล” ว่า ในปี 2558 ประเมินว่าภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกทั้งระบบของไทยยังคงมีอัตราการเติบโตประมาณ 5-10% จากปีที่แล้ว หรือเติบโตเป็น 2 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งประเมินว่าจะอยู่ที่ 4% หลัก ส่วนปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อจีดีพีคาดว่าเป็นเรื่องของภาวะหนี้ภาคครัวเรือนและรายได้เกษตรกรที่ยังอยู่ในระดับทรงตัวที่เป็นปัญหาสำคัญ จึงเป็นข้อจำกัดของการขยายตัวในธุรกิจค้าปลีก

ในขณะที่ปี 2557 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดรวมค้าปลีก ประมาณ 1.55 ล้านล้านบาท (ไม่นับรวมการบริโภครถยนต์และการบริโภคปูนซีเมนต์) ซึ่งเป็นการเติบโตที่มาจากสินค้าประเภทคอนซูเมอร์โปรดักส์ โดยแนวโน้มการเติบโตของค้าปลีกจะขยายตัวในรูปแบบร้านค้าขนาดเล็ก (คอนวีเนียนสโตร์) มากขึ้น เพราะไม่มีข้อจำกัดของพื้นที่ตั้ง ขณะที่โมเดลร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า มีการขยายตัวไปยังหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคยังมีกำลังซื้อที่ดีอยู่ โดยการออกโปรโมชั่นใหม่ๆ ยังเป็นกลยุทธ์ที่ต้องใช้ตลอดทั้งปี

“สำหรับภาวะเศรษฐกิจปี 2558 ที่น่าจะเริ่มไปในทิศทางที่ดีแล้วนั้น เป็นผลมาจากการค้าชายแดนที่เติบโต และการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวมากกว่าปีที่แล้ว ทำให้คาดว่าการบริโภคภายในประเทศจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ สังเกตจากช่วงเทศกาลตั้งแต่ต้นปีคือปีใหม่และตรุษจีนที่มีการทำตลาดจากผู้ประกอบการมาก ทำให้เกิดการกระตุ้นตลาดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น”

ส่วนเรื่องราคาน้ำมันที่มีการปรับลดลงมาเป็นระยะๆ นั้นจะส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตและขนส่งให้ลดลงตามไป ประกอบกับภาครัฐมีการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณที่ค้างท่อจำนวนมากของภาครัฐที่จะมาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้มากขึ้นซึ่งขณะนี้การใช้จ่ายภาครัฐยังมีไม่มากและก็จะเป็นการใช้เงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องของราคายางพาราและข้าวเป็นหลัก

ขณะที่ปัจจัยหลักที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของภาคธุรกิจค้าปลีกของไทยจะมาจากธุรกิจการค้าชายแดนในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) โดยในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าต่างๆ เข้าไปจำหน่ายยังประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ เติบโตเฉลี่ยประมาณ 14-18% ซึ่งแม้ว่าจะมีสินค้าจากประเทศเวียดนามและจีนเข้ามาแข่งขันและตีตลาดแข่งขันดับประเทศไทย แต่สินค้าไทยก็ยังถือว่าได้รับความนิยมอย่างมาก

“ส่วนภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ถือได้ว่าเป็นตัวจักรสำคัญอีกตัวหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจรวมมีความคึกคักและเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยซึ่งในแต่ละปีมีประมาณไม่ต่ำกว่า 5.6 ล้านคน ทำให้เกิดเม็ดเงินรายได้สะพัดในไทยประมาณ 2.4 แสนล้านบาท”

สำหรับพฤติกรรมผู้บริโภค ดร.สุวิทย์ มองว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับสินค้าประเภทสุขภาพและความงามเพิ่มมากขึ้น โดยเทรนด์การซื้อขายผ่านออนไลน์จะมาแรง เพราะผู้ประกอบการได้รุกตลาดดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต 27 ล้านคน ใช้ Facebook 11.5 ล้านบัญชี ทำให้การค้าผ่านดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งสูงขึ้นตามไปด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น