ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกสมาคมการตลาดฯ เผยธุรกิจแทบทุกแขนงรับผลกระทบหนักจากปี 57 จนบางรายถึงขั้นติดลบ หวังการปรับลดราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วยเกื้อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น แนะเจ้าของแบรนด์และนักการตลาดเร่งปรับตัวด้านเทคโนโลยีรับพฤติกรรมผู้บริโภค
นายอนุวัตร เฉลิมไชย นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์ทางด้านการเมืองเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นจนส่งผลให้ภาคธุรกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ซึ่งหลายๆ ฝ่ายต่างคาดการณ์ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคจะเริ่มเพิ่มสูงมากขึ้น แต่หากพิจารณาถึงการใช้งบประมาณด้านโฆษณาของธุรกิจแขนงต่างๆ แล้วจะพบว่ายังคงอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา จึงสะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมของเศรษฐกิจยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง โดยอาจถึงขั้นติดลบเมื่อเทียบกับปี 2556 หรืออย่างมากอาจเติบโตเพียง 1-2% เท่านั้น
ภาพรวมของธุรกิจต่างๆ ในปี 2557 ยังไม่ถือว่าฟื้นตัวมากนัก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภค-บริโภค รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว รวมถึงภาคเกษตรกรรม และอื่นๆ เนื่องจากได้รับผลกระทบทางด้านการเมืองที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2556 ดังจะเห็นได้ว่าบางธุรกิจมีอัตราเติบโตเพียงประมาณ 5% ในขณะที่บางธุรกิจอาจติดลบถึงสองหลัก แต่ผู้ประกอบการต่างก็พยายามปรับตัวจนสามารถรับสภาพที่เกิดขึ้นได้
“ในปี 2558 คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะเริ่มมีทิศทางและแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีสัญญาณหลายประการที่จะเป็นปัจจัยบวกให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องทำงานหนักมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องของราคาพืชผลทางการเกษตร การส่งออก การท่องเที่ยว ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค”
นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยยังให้ความเห็นถึงแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2558 ที่นักการตลาดควรให้ความสนใจ ดังนี้
1. ผู้บริโภคชาวไทยจะยังคงมีเอกลักษณ์เฉพาะที่มีความแตกต่างจากชาติอื่นๆ ในลักษณะ “Thailand Only”
2. กลุ่มผู้บริโภควัยสูงอายุและมีกำลังซื้อสูงจะเริ่มมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เทรนด์สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจะมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง
3. เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์จะยังคงมีบทบาทสำคัญและเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคเลือกรับข้อมูลข่าวสารมากที่สุด โดยเฉพาะ “ยูทิวบ์” คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
4. ผู้บริโภคจะเริ่มปรับตัวและเลือกรับชมทีวีดิจิตอลเฉพาะช่องที่มีการพัฒนาคอนเทนต์ได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด
5. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะมีผลในเชิงจิตวิทยาต่อผู้บริโภคด้านการกระตุ้นกำลังซื้อ
ด้วยเหตุนี้ นักการตลาดจึงควรปรับตัวเพื่อรับกับผู้บริโภค ดังนี้
1. ยึดหลักการทำตลาดด้วยแนวคิด 5 S ได้แก่ Saduak / Sabai / Sanuk / Smile / Sa-thu (สะดวก / สบาย / สนุก / สไมล์ / สาธุ)
2. พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นจากคู่แข่งเพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า โดยผสานทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ
3. อัปเดตตัวเองด้านเทคโนโลยีอย่างเป็นประจำ พร้อมกับใช้ “ไวรัล มาร์เก็ตติ้ง” ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
4. พัฒนาคอนเทนต์รายการทีวีดิจิตอลที่เจาะกลุ่มผู้ชมเป้าหมายในลักษณะ Niche Market
5. ผสมผสานการใช้สื่อออนไลน์ สื่อดิจิตอล ตลอดจนสื่อประเภทต่างๆ ทั้ง above the line และ below the line ในการสร้างความรับรู้ในตัวผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภค
นายอนุวัตรกล่าวในตอนท้ายด้วยว่า ในปี 2558 ซึ่งจะมีการเปิดตลาดเออีซี หรือเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ยังคงถือเป็นโอกาสของสินค้าไทยหลายๆ แบรนด์ที่จะทำตลาดในประเทศต่างๆ มากขึ้น เพราะสินค้าและบริการไทยหลายๆ ประเภทมีเสน่ห์และความแตกต่าง ทั้งยังเป็นที่นิยมและได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ เพียงแต่อาจเสียเปรียบด้านระบบบริหารงานและภาษาอังกฤษที่ใช้ในการสื่อสาร โดยอาจกล่าวได้ว่าในตลาดอาเซียนอาจเป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้น