xs
xsm
sm
md
lg

แนะจับเทรนด์ผู้บริโภคปี 58 เน้นกลยุทธ์ Thailand Only

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ดั่งใจถวิล อนันตชัย” นายกสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย
ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกสมาคมวิจัยการตลาดฯ เผย 6 เทรนด์ผู้บริโภคไทยปี 58 แนะนักการตลาดจับจุด 5 S “Saduak / Sabai / Sanuk / Smile / Sa-thu” ย้ำพฤติกรรม “Thailand Only” พร้อมปรับหลักการโฆษณาด้วยวิธี Offline to Online ดึงดูดความสนใจผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ที่ใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น

นางสาวดั่งใจถวิล อนันตชัย นายกสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เทรนด์ผู้บริโภคในปี 2015 หรือ 2558 ถือว่ามีความสำคัญต่อการทำตลาดให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะผู้บริโภคชาวไทยถือว่ามีพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ในลักษณะ Thailand Only คือ 5 S ได้แก่ Saduak / Sabai / Sanuk / Smile / Sa-thu (สะดวก / สบาย / สนุก / สไมล์ / สาธุ) ดังจะเห็นได้จากการทำกิจกรรม “ไอซ์ บักเก็ต” ในช่วงที่ผ่านมาจนประสบความสำเร็จ เพราะผู้ร่วมโครงการสามารถทำกิจกรรมดังกล่าวได้ทุกสถานที่อย่างสะดวก สบาย มีความสนุก ได้รอยยิ้ม และเป็นเรื่องเกี่ยวโยงถึงการทำบุญ (สาธุ) ทั้งยังต่อเนื่องไปถึง S ที่ 6 และ 7 คือ Status หรือสถานะที่มาจากการแชร์ (Share)

นักการตลาดยังควรให้ความสนใจกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ หรือ Gen Z ซึ่งเริ่มมีพฤติกรรมการจงรักภักดีต่อแบรนด์ หรือ Brand Royalty ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคิดว่าถ้าไม่ชอบสินค้าใดก็จะเลิกใช้ทันที ขณะเดียวกันยังมีพฤติกรรมการบริโภคสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์น้อยลง โดยจะเลือกรับสื่อออนไลน์เฉพาะเรื่องที่สนใจตรงตามความต้องการ ความสะดวก เวลา และสถานที่

“จากผลการศึกษาและวิจัยพบว่าผู้บริโภคคนไทยรุ่นใหม่ให้ความสนใจชมละครและภาพยนตร์ทางโทรทัศน์เพียง 22% เพราะไม่ต้องการชมภาพยนตร์โฆษณา หรือ TVC เพราะฉะนั้นนักการตลาดจึงควรปรับตัวด้วยการใช้โฆษณาแฝง หรือ Tie-In มากขึ้น พร้อมกับใช้หลักการโฆษณาด้วยวิธี O to O หรือ Offline to Online นั่นหมายถึงการทำ TVC สั้นๆ เพื่อดึงดูดความสนใจผู้บริโภคและนำรายละเอียดต่างๆ ไปต่อยอดในสื่อออนไลน์ เพราะหากผู้บริโภคสนใจก็จะเป็นฝ่ายติดตามในภายหลัง”

นักการตลาดยังควรต้องตระหนักและวิเคราะห์ให้ดีถึงแนวทางการทำตลาดเพื่อดึงดูดความสนใจผู้บริโภคยุคใหม่ เนื่องจากมีการศึกษาและวิจัยโดยหน่วยงานต่างประเทศพบว่า ผู้บริโภคยุคปัจจุบันจะเลือกซื้อสินค้าและบริการโดยคำนึงความต้องการ (Want) มากกว่าความจำเป็นต้องใช้ (Need) ขณะเดียวกันผู้บริโภคที่มีการใช้งานสื่อออนไลน์เป็นระยะเวลานานๆ อย่างต่อเนื่องจะมีความจำสั้นลงเพียง 8 วินาทีเท่านั้น

นางสาวดั่งใจถวิลกล่าวอีกว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ซึ่งจะส่งผลต่อการทำตลาดสินค้าและบริการต่างๆ ในอนาคต โดยเฉพาะผู้บริโภคระดับล่างซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีพฤติกรรมการซื้อเพิ่มมากขึ้นอันเป็นผลมาจากความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยี จนส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคในอนาคตมีลักษณะเป็นพีระมิดรูปเพชร (Diamond Pyramid) จากเดิมที่มีลักษณะเป็นพีระมิดฐานกว้าง (Pyramid) ซึ่งกำลังซื้อส่วนใหญ่คือผู้บริโภคระดับบน

แนวทางการทำตลาดยุคใหม่ต้องยึดหลัก “Content is Queen, but Engagement is King” หมายความว่าการตลาดไม่ใช่เพียงแค่มีแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่ต้องมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจและสามารถเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมมากที่สุด เพราะแม้ว่าแบรนด์ไทยค่อนข้างจะมีความแข็งแกร่งแต่มักขาดความต่อเนื่องในการสร้างแบรนด์ ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากมีการลงทุนสร้างแบรนด์แล้วหากยังไม่สามารถขายสินค้าได้ก็จะเปลี่ยนแนวทางใหม่จนทำให้แบรนด์ไม่มีความเป็นตัวตนและผู้บริโภคก็ไม่สามารถจดจำแบรนด์ได้

“นักการตลาดควรเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่าโซเชียลมีเดียและโลกออนไลน์ไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของจิตวิทยาด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องของ Culturally, Participating, Listening หมายความว่า ต้องรู้ว่าสังคมต้องการอะไร แล้วให้ผู้บริโภคอย่างเต็มที่ โดยต้องฟังความต้องการของผู้บริโภคจากการสื่อสารระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภคด้วยกันเองมากกว่าจะเป็นฝ่ายถามผู้บริโภคว่ามีความต้องการอะไร”

นางสาวดั่งใจถวิลกล่าวด้วยว่า พฤติกรรมผู้บริโภคไทยมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงเป็น Mega Trend ในลักษณะ 6 ประการ คือ 1. ต้องการคำตอบที่ง่ายและรวดเร็ว (Consumers Search for Instant Alternatives) 2. ต้องการใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติมากขึ้น (Mindful Living) 3. ให้ความสำคัญตัวเองมากขึ้น (Consumers are Vying for Validation & Status) 4. สามารถทำหลายๆ สิ่งได้ในเวลาเดียวกัน (Consumers are Shaping Their Time) 5. ต้องการตัวตนที่แท้จริงของแบรนด์ (Customers are Expecting Authenticity) 6. การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค (JOMO & FOMO)

“ด้วยเหตุที่ผู้บริโภคยุคใหม่เริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากการที่กลัวตกเทรนด์ หรือ Fear Of Missing Out เป็น Joy Of Missing Out คืออยากอยู่คนเดียวและมีความต้องการเรื่องอารมณ์และจิตใจมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการทำงานหนักมากขึ้น การตลาดยุคใหม่จึงมีแนวโน้มที่จะเป็น Pure Marketing หรือ White Ocean Marketing โดยเน้นแคมเปญการทำบุญ หรือการผ่อนคลายมากขึ้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น