แท็กซี่แห่ปรับจูนมิเตอร์ “อธิบดีกรมขนส่ง” คาดวันแรกปรับจูนมิเตอร์ได้ประมาณ 1,000 คัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะได้วันละ 5,000 คัน สั่งบริษัทมิเตอร์เพิ่มเจ้าหน้าที่ื คาดปรับจูนมิเตอร์ได้ครบ 85,000 คันในสิ้นเดือน ม.ค. 58 ด้าน “คนขับแท็กซี่” คาดรายได้เพิ่มเป็นวันละ1,500 บาท
วันนี้ (22 ธ.ค.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนดให้รถแท็กซี่ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพและการรับรองจากกรมการขนส่งฯ ทำการปรับจูนมิเตอร์มาตรค่าโดยสารอัตราใหม่ระยะที่ 1 ตามประกาศของกรมการขนส่งฯ และประทับตรารับรอง (ซีลตะกั่ว) ที่มาตรโดยสาร พร้อมติดสติกเกอร์สีฟ้าข้อความ “ผ่านการตรวจยกระดับและปรับจูนมิเตอร์” โดยจะดำเนินการจูนมิเตอร์จนถึงวันที่ 30 มกราคม 2558 ไม่เว้นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 07.00 -18.00 น. ที่อาคารคลังสินค้า 3 ท่าอากาศยานดอนเมือง
นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยภายหลังติดตามการปรับจูนมิเตอร์รถแท็กซี่เพื่อใช้มาตรค่าโดยสารใหม่ระยะที่ 1 ว่า ในวันนี้ (22 ธ.ค.) เป็นวันแรกมีบริษัทผู้ให้บริการปรับจูนมิเตอร์ 4 บริษัท จำนวน 8 รุ่น ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังแล้ว คือ บริษัทเอสเฟรม เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มิเตอร์ยี่ห้อ SFAME, บริษัทซันไทมิเตอร์ จำกัด มิเตอร์ยี่ห้อ 3TM, บริษัทเหลี่ยนยี่อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มิเตอร์ยี่ห้อ ROYALและ บริษัทเพาเวอร์เมติค จำกัด มิเตอร์ยี่ห้อ PRINTAX จากทั้งหมด 9 บริษัท โดยอีก 5 บริษัท จำนวน 10 รุ่นที่เหลือยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบมาตรฐานมิเตอร์ และจะทยอยประกาศรับรองต่อไป
โดยวันนี้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงมีรถแท็กซี่ที่ผ่านการซีลตะกั่วไปแล้วประมาณ 400 คัน และคาดว่าทั้งวันจะมีรถแท็กซี่ที่ได้รับการปรับจูนมิเตอร์และใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ได้ประมาณ 1,000 คัน ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5,000 คัน เนื่องจากมีจำนวนรถที่เข้ามาปรับจูนมิเตอร์จำนวนมาก โดยคาดว่าภายในเดือนมกราคม 2558 จะดำเนินการปรับจูนมิเตอร์แท็กซี่ได้หมด
ส่วนผลการตรวจสภาพถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2557 มีรถแท็กซี่ผ่านมาตรฐานคุณภาพแล้วประมาณกว่า 60,000 คัน หรือประมาณ 80-85% ของปริมาณรถแท็กซี่ที่วิ่งให้บริการในปัจจุบันประมาณ 85,000 คัน ส่วนรถแท็กซี่ที่ยังไม่ผ่านการตรวจมาตรฐานคุณภาพนั้น กรมการขนส่งฯ จะเร่งดำเนินการทั้งที่สำนักงานใหญ่ และสำนักงานเขตพื้นที่
“วันแรกมีปัญหาติดขัดบ้าง เพราะเจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้ให้บริการจูนมิเตอร์ไม่เพียงพอ ซึ่งได้สั่งการให้แต่ละบริษัทเพิ่มเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งบางรุ่นมีผู้ใช้บริการมากถึง 3 หมื่นราย ส่วนค่าปรับจูนมิเตอร์อยู่ที่ประมาณ 254-300 บาท” นายธีระพงษ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประชาชนผู้โดยสาร สามารถตรวจสอบได้ว่าแท็กซี่ที่จะปรับค่ามิเตอร์อัตราใหม่ได้จะต้องเป็นรถแท็กซี่ที่ผ่านการตรวจสภาพมาตรฐานและปรับจูนมิเตอร์ จะต้องมีสติกเกอร์สีเขียวที่ระบุว่าผ่านมาตรฐานยกระดับและปรับจูนมิเตอร์แล้วติดหน้ากระจกซ้ายด้านบน ส่วนการปรับค่าโดยสารระยะ 2 นั้นจะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง ซี่งเงื่อนไขในการพิจารณาคือ การร้องเรียนเรื่องปฏิเสธรับผู้โดยสารต้องลดลง ในขณะที่กรมการขนส่งฯ จะกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในขณะที่การปรับค่าโดยสารครั้งนี้เป็นไปตามกลไกต้นทุนและค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้ผู้ขับแท็กซี่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายธานี ห้อฤทธิ์ ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ซี่งนำรถมาปรับจูนมิเตอร์ กล่าวว่า แม้ว่ารถแท็กซี่จะเข้ามาปรับจูนมิเตอร์จำนวนมาก แต่ไม่เสียเวลามากนัก โดยหลังจากปรับจูนมิเตอร์เสร็จจะนำรถไปวิ่งรับส่งผู้โดยสารในอัตรามิเตอร์ใหม่ได้ทันที ซึ่งปัจจุบันเสียค่าเช่าวันละ 700 บาท ค่าก๊าซประมาณวันละ 300 บาท มีรายได้ต่อกะประมาณ 1,200-1,300 บาท ซึ่งอัตราค่าโดยสารใหม่คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้เป็น 1,500 บาท โดยในช่วงแรกกังวลว่าจำนวนผู้โดยสารอาจจะลดลงบ้างเล็กน้อย