xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”ขอผู้ผลิตร่วมมือตรึงสินค้าต่อ3เดือน หลังได้รับอานิสงค์น้ำมันลดและต้นทุนการผลิตไม่ขยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์”ขอความร่วมมือผู้ผลิตตรึงสินค้าต่อ 3 เดือน หลังได้รับอานิสงค์น้ำมันดีเซลลด และต้นทุนวัตถุดิบราคาไม่ขึ้น เตรียมพิจารณาสินค้าที่ได้ผลดีจากดีเซลลดมีอะไรบ้าง พร้อมขอความร่วมมือลดราคา แต่หากไม่ได้ ต่อไปถ้าดีเซลขึ้นก็ต้องช่วยรับภาระไว้ด้วย คาดหลังพ้นก.พ.ปีหน้า สินค้าจะยังทรงตัว เหตุแรงกดดันไม่มี ย้ำอีกครั้ง ก๊าซหุงต้มขึ้นกระทบต้นทุนจานด่วนเล็กน้อย ห้ามมั่วนิ่มขึ้นราคา

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มต่างๆ เพื่อชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้า หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาขอความร่วมมือตรึงราคามาตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2557 ที่ผ่านมา โดยขอให้คงราคาสินค้าตามเดิมต่อไปจนถึงสิ้นเดือนก.พ.2558 หรือรวมระยะเวลา 3 เดือน ตามนโยบายของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่มีแรงกดดันอะไรที่จะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ทั้งวัตถุดิบนำเข้า และราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนด้านการขนส่งสินค้า

“จากการสำรวจต้นทุนการผลิตของกรมฯ พบว่า ต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่ราคาทรงตัวและหลายตัวปรับลดลง และต้นทุนที่สำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ลิตรละ 28.79 บาท ทำให้แรงกดดันต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับลดลงมาอย่างมาก ซึ่งถือเป็นผลดีต่อผู้ผลิตที่จะมีต้นทุนในด้านการขนส่งปรับลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ ที่ราคาน้ำมันดีเซลทรงตัวอยู่ที่ลิตรละ 29.99 บาทมาอย่างยาวนาน”

นอกจากนี้ กรมฯ ยังพบว่า ราคาวัตถุดิบประเภทต่างๆ เช่น เหล็ก ทินเพลต ทองแดง ปุ๋ยเคมี พลาสติก สารเคมี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตปิโตรเลียม ขณะนี้ราคาได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้แรงกดดันต่อราคาสินค้าที่ใช้วัตถุดิบดังกล่าวปรับลดลง และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นราคาในช่วงนี้

นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า กรมฯ ยังได้พิจารณารายการสินค้าที่ได้รับผลดีจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลง โดยเบื้องต้นพบว่า สินค้าที่มีน้ำหนักมากและการบรรทุกต่อเที่ยวทำได้น้อย เช่น ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก ปุ๋ยเคมี เป็นต้น จะได้รับผลดีที่ต้นทุนในการขนส่งลดลงมากกว่าสินค้าที่มีน้ำหนักน้อย ซึ่งกรมฯ กำลังดูว่าจะขอให้ผู้ผลิตปรับลดราคาลงได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่ได้ ก็ต้องถือว่าผู้ผลิตได้ประโยชน์จากตรงนี้ และต่อไป หากน้ำมันดีเซลปรับขึ้นราคา ก็ต้องยอมที่จะรับภาระไว้ก่อนด้วย

สำหรับผลดีต่อเงินเฟ้อ คาดว่า การที่น้ำมันดีเซลปรับลดลงมาลิตรละกว่า 1 บาท จะทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อปรับตัวลดลง เพราะผู้ผลิตได้รับผลดีจากการที่ต้นทุนการขนส่งลดลง ทำให้แนวโน้มราคาสินค้าส่วนใหญ่น่าจะคงราคาเดิมต่อไปได้

นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวดีขึ้น แต่กำลังซื้อของประชาชนยังไม่ดีขึ้นมาก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา โดยประเมินว่ากำลังซื้อของประชาชนจะทยอยเพิ่มขึ้น แต่ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นจนกดดันต่อราคาสินค้า และเชื่อว่าหลังจากพ้นช่วงเดือนก.พ.2558 ไปแล้ว สถานการณ์ราคาสินค้าน่าจะยังเป็นปกติ เพราะแรงกดดัน ทั้งจากราคาน้ำมันและต้นทุนวัตถุดิบ ก็ไม่น่าจะสูงขึ้น

ส่วนการที่ผู้ผลิต ห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีก ได้เข้ามาช่วยรัฐบาลในการปรับลดราคาสินค้าเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน จะเป็นการช่วยผู้ผลิตระบายสินค้าค้างสต๊อก และช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งรมว.พาณิชย์ จะมีการแถลงรายละเอียดการปรับลดราคาสินค้าในวันที่ 17 ธ.ค.นี้

นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า กรมฯ ขอย้ำอีกครั้งในเรื่องการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มว่าไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบอาหารปรุงสำเร็จ และก๋วยเตี๋ยว เพราะการปรับขึ้นราคา 1.03 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) หรือจาก 23.13 บาทต่อกก. เป็น 24.16 บาทต่อกก.นั้น มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพียงจาน/ชามละ 30 สตางค์ ซึ่งจะมาใช้เป็นเหตุผลและข้ออ้างในการปรับขึ้นราคาอาหารทีละ 5-10 บาทไม่ได้ และหากประชาชนพบว่าร้านค้าใดมีการปรับขึ้นราคาไม่เป็นธรรม ก็ให้แจ้งมาที่สายด่วน 1569 กรมฯ จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ และขอให้ร้านค้าชี้แจงต้นทุน ซึ่งเบื้องต้นจะใช้วิธีการว่ากล่าวตักเตือนก่อน หากไม่เชื่อฟัง ก็จะใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการต่อไป

อย่างไรก็ตาม กรมฯ ยังได้สำรวจสถานการณ์ราคาวัตถุดิบในการประกอบอาหาร พบว่า ส่วนใหญ่ราคาปรับลดลง ทั้งเนื้อหมู ไข่ไก่ น้ำมันพืช และผักสด ที่ส่วนใหญ่ราคาปรับตัวลดลง ยกเว้นบางรายการที่มีราคาปรับสูงขึ้นบ้าง เช่น ผักคะน้า ซึ่งกรมฯ แนะนำให้ประชาชน เลือกบริโภคผักที่มีราคาลดลง เพื่อลดภาระค่าครองชีพ เพราะยังมีผักอีกเป็นจำนวนมากที่ราคาลดลง และทดแทนกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น